มติ กสท. 3 ต่อ 2 ให้ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนานได้
มติ กสท. 3 ต่อ 2 ให้ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนานได้
เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสท. มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือแจ้ง บริษัท บีอีซี มัลติมีเดียว่า หากบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ออกอากาศคู่ขนาน และบีอีซี มัลติมีเดียจะรับผิดชอบผังที่ออกอากาศได้หรือไม่ ถ้าควบคุมได้ก็ทำได้ตามมาตรา 9 เท่ากับประกอบกิจการด้วยตนเองได้
โดยทางบริษัท บีอีซี จะต้องยืนยันว่ามีอำนาจควบคุมและสามารถรับผิดชอบได้หากกรณีรายการที่นำมาออกอากาศนั้นเกิดมีปัญหา ซึ่งหากทางบอร์ดกสท.ได้รับหนังสือยืนยันจากทางบริษัทบีอีซีแล้วทางบอร์ด ก็จะพิจารณาอนุญาตให้ออกอากาศคู่ขนานได้ โดยไม่ถือว่าบริษัทบีอีซีดำเนินการขัดมาตรา 9
การพิจารณาในครั้งนี้ใช้มาตรา 46 ตามพระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553 มาพิจารณา โดยอ้างอิงจากคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรา 46 คล้ายกับ มาตรา 43 ตามพระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553
ในขณะเดียวกันทางด้าน พันเอกนที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยของมติที่ประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกกังวลเรื่องคนละนิติบุคคล เพราะตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดชัดเจนว่า แม้ทั้ง 2 บริษัท จะถือหุ้น หรือบริหารโดยกลุ่มบุคคลเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นบุคคล หรือนิติบุคคลเดียวกัน บีอีซีมีเดียต้องประกอบการเอง เพราะมิฉะนั้นจะขัดม.43 พรบ.กสทช. ม.9 พรบ.ประกอบฯ2551 จึงไม่เห็นด้วยตามมติ กสท. ส่อผิดกฏหมาย
ด้านส่วน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. จะทำหนังสือถึงบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย วันที่ 1 ตุลาคมนี้ และให้ช่อง 3 ทำตามมติ และให้ส่งผังรายการเข้ามาเพื่อประกอบการพิจารณาการออกคู่ขนาน แต่หากช่อง 3 ไม่พอใจ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์มาที่คณะกรรมการ กสทช. ได้ หรือยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
ล่าสุดทางผู้บริหารช่อง 3 ออกมาชี้แจงว่ามติที่ออกมานั้นไม่สามารถตอบคำถามของช่อง 3 ที่ถามมาตั้งแต่ต้นว่าออกคู่ขนานได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีข้อกฎหมายและเงื่อนไขทางธุรกิจที่ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งประเด็นคนละนิติบุคคลด้วย โดยมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์นั้นทำให้ทางช่อง 3 มีข้อกังวล
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังการประชุม กสท. ในประเด็นช่อง 3 ออกคู่ขนานได้หรือไม่นั้น กรรมการบอร์ด กสท. มีการแถลงข่าวสองรอบด้วยกัน โดยรอบแรกเป็นกลุ่มเสียงข้างมาก และตามมาด้วยเสียงข้างน้อยคือ พันเอก นที ประธาน กสท โดยกลุ่มที่เห็นว่าออกคู่ขนานได้นั้น ได้พิจารณาในแง่ของการเชื่อมโยงของบริษัทในกลุ่มช่อง 3 และเอกสารก่อนการเข้าประมูลทีวีดิจิตอลจึงเห็นว่าไม่ต้องแก้มาตรา 9
ส่วนพันเอกนทีนั้นมองว่าเป็นคนละนิติบุคคลกัน จึงผลักดันในแก้ประกาศแบ่งเวลามากกว่า ซึ่งอาจทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นการดำเนินการพิเศษเพื่อช่อง 3 โดยเฉพาะเกินไป และยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่าศาลปกครองได้กำหนดเงื่อนเวลาการทุเลาไว้
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.