ล่าสุด

ทำไมไทยถึงเลือกระบบ DVB-T2

ดิจิตอลทีวีระบบ DVB-T2 คือระบบที่ไทยเลือกใช้

แม้ว่าปัจจุบันเราจะเห็นว่าการผลักดันทีวีดิจิตอลนั้นเป็นหน้าที่หลักของ กสทช แต่นั่นเพราะเรามีองค์กรหลักตามกฏหมายมารับผิดชอบเสียทีหลังสามารถจัดตั้ง กสทช ได้เมื่อปี 2554 ซึ่งก็ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการศึกษาการเปลี่ยนถ่ายระบบการออกอากาศของไทยจากอนาลอกเป็นดิจิตอล เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านนี้ก็ได้คิดและให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนระบบมานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่ทั้งกรมประชาสัมพันธ์ อสมท และสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ทีวีพูดก็ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าและติดตามดูงานการพัฒนาของระบบทีวีดิจิตอลมาโดยตลอด

ในส่วนของรัฐบาล กระทรวงไอซีทีเคยได้ทำความตกลงกับรัฐมนตรีด้านไอซีทีของประเทศอาเซียน เมื่อครั้งมีการประชุมร่วมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสารสนเทศของอาเซียนครั้งที่ 9 เมื่อปี 2550 ว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะใช้มาตรฐานการรับส่งโทรทัศน์ระบบดิจิตอลให้เหมือนกับฝั่งยุโรป คือ DVB-T

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในครั้งนั้น เป็นที่รับทราบกันว่า การออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการสื่อสาร การลงทุนและการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ความเห็นของที่ประชุมจึงมีความเห็นชอบที่จะนำมาตรฐานทีวีดิจิตอล DVB-T ของยุโรปอันเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปมากที่สุด มาปรับแต่งใช้งานภายในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดในเชิงเศรษฐศาสตร์ของขนาดหรือจำนวนประชากรของทั้งอาเซียน การปรับให้เข้ากันได้ง่าย (Ease of Adoption, ประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ใช้ระบบ PAL ของยุโรปอยู่แล้ว) และความยืดหยุ่นสำหรับการออกอากาศได้หลายระบบ ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 (2007) ที่ประชุมร่วมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านสารสนเทศของอาเซียน ก็ได้ออกประกาศร่วมของที่ประชุมให้ถึงการให้การรับรองมาตรฐานทีวีดิจิตอล DVB-T ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

ในส่วนของประเทศไทยเอง ก่อนประกาศใช้มาตรฐาน DVB-T ให้เป็นมาตรฐานของประเทศ ทางกสทช. ได้ทำการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการโทรทัศน์และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งผลสรุปที่ออกมานั้นเป็นเอกฉันท์ว่าระบบ DVB-T น่าจะเป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีของกลุ่มทีวีพูลเอง ที่เห็นในทางเดียวกัน

DVB-T-worldmap

โดยในระหว่างการศึกษาและตัดสินใจเลือกระบบมาตรฐานทีวีดิจิตอล ได้มีความพยายามจากเจ้าของมาตรฐานทีวีดิจิตอลค่ายอื่นๆ ที่อยากให้ประเทศไทยหันไปใช้มาตรฐานของตน โดยเฉพาะ ISDB-T จากญี่ปุ่น และในช่วงท้ายๆของการตัดสินใจ ระบบ DTMB ของจีนที่เพิ่งพัฒนาเสร็จและรวมข้อดีของระบบต่างๆ ไว้ ก็ได้มีตัวแทนเข้ามาพูดคุยกับทาง กสทช ด้วย

นอกจากรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ แล้ว ก่อนการประกาศรับรองมาตรฐาน ทง กสทช. ได้ร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องในการทดสอบการออกอากาศจริงและศึกษาระบบเปรียบเทียบระบบต่างๆ กันจนมั่นใจ

โดยแนวทางในการพิจารณาเลือกใช้ระบบใดนั้นทางที่ปรึกษา ITU ได้มีแนวนโยบายดังนี้คือ

  • ความก้าวหน้าในเชิงเทคโนโลยี และความจำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบโทรทัศน์ในอนาคต อันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
  • การใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะสูงสุด
  • จำนวนช่องที่ควรมีมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนากิจการโทรทัศน์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
  • จำนวนช่องรายการมากพอที่จะก่อให้เกิดการแข่งขันและโอกาสในการรับรู้ข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร

ในที่สุดแล้วเมื่อได้ข้อสรุปทางด้านเทคโนโลยีแล้ว กสทช ก็ได้ยื่นขอรับความเห็นชอบจากรัฐบาลในการที่เลือกใช้ระบบโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นระบบ DVB-T2 หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พค 2555 แล้ว ทาง กสทช ก็ได้อออกประกาศให้มาตรฐานทีวีดิจิตอลไทยเป็น DVB-T2 เมื่อวันที่ 20 พย 2555 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 หรือปลายปีที่แล้วนี่เอง

Advertisment

Leave a comment