จะเยียวยาทีวีดิจิตอล ด้วยการสั่งให้หน่วยงานรัฐซื้อโฆษณา
จะเยียวยาทีวีดิจิตอล ด้วยการสั่งให้หน่วยงานรัฐซื้อโฆษณา
ทราบข่าวว่าทาง กสทช. เตรียมเสนอ ครม. ให้เยียวยาทีวีดิจิตอลด้วยการสั่งให้หน่วยงานรัฐซื้อโฆษณษาจากบรรดาช่องทีวีดิจิตอลต่างๆ ตกลงทาง กสทช. ยอมรับแล้วใช่หรือไม่ว่าทีวีดิจิตอลมีปัญหา ว่าแต่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองหรือยัง
ประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ความจริงแล้วจะไปบอกว่าเพราะสภาพเศรษฐกิจแล้วทำให้ทีวีดิจิตอลขาดทุน ไม่สามารถอยู่รอดได้ก็คงไม่ถูกต้องนัก ความจริงแล้วต้องปล่อยไปตามกลไกตลาด หลายช่องที่ประมูลได้ต่างก็คิดว่าทีวีดิจิตอลที่เพิ่มจำนวนช่องมากขึ้นนั้น จะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เป็นเจ้าของช่องทีวี แล้วสร้างรายได้แบบช่องดั้งเดิมอย่าง 3 – 5 – 7- 9 ในอดีต โดยลืมมองไปว่า จำนวนช่องมากขึ้นถึง 24 ช่อง การแข่งขันก็สูงขึ้นเพื่อแย่งคนดูจำนวนเท่าเดิม
เปลี่ยนผ่านและเพิ่มช่องไปพร้อมๆกัน คือตัวปัญหา
ปัญหาข้างบนผสมกับการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาลอกสู่ดิจิตอล ที่ทาง กสทช. ไม่ได้ฟังเสียงท้วงติงว่า จำนวนช่องมากเกินไป และทำผิดวิธี จริงๆแล้ว ควรจะเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาลอกไปสู่ดิจิตอลให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยเพิ่มช่อง
ทั้งนี้เพราะรู้ๆกันอยู่แล้วว่า ช่องดั้งเดิมที่ครองตลาดอยู่ เขาจะยอมเปลี่ยนผ่านอย่างง่ายๆหรือ ก็คงจะเห็นกันไปแล้วว่าบางช่อง ยื้อกันด้วยข้อกฏหมายสุดฤทธิ์ ในขณะที่วันเวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ ทำให้เอเจนซี่ยังไม่หันไปมองช่องทีวีดิจิตอลอื่นๆ ค่าประมูลก็งวดเข้ามา แต่โฆษณาไม่เข้า เพราะอะไร จนตอนนี้ทีวีระบบอนาลอกยังอยู่ รูปแบบการลงโฆษณาก็ยังเหมือนเดิม ช่องใหม่ๆก็ตายสนิทซิครับ
หากมีการเปลี่ยนผ่านให้เสร็จเรียบร้อย ปิดระบบอนาลอกหมดแล้ว ทุกอย่างอยู่บนแพลทฟอร์มดิจิตอลแล้ว ค่อยมาพิจารณาเพิ่มช่องตามที่นักวิชาการหลายคนท้วงติง น่าจะดีกว่าไหม เพราะถึงตอนนั้นทุกคนก็จะเข้ามาร่วมแจมบนพื้นฐานเดียวกัน จำนวนคนดูบนระบบเดียว สัดส่วนผู้ชมก็สามารถมองออกได้ทันทีว่าจะเกิดอะไรขึ้น สมควรประมูลด้วยราคาเท่าใด
คนรุ่นนี้ก็ต้องดูช่องที่เขาคุ้นเคย
ผมเคยเขียนบทความจากการวิจัยทีวีในอังกฤษไว้แล้วว่า ผ่านไปพักนึงสุดท้ายคนก็ยังวนเวียนอยู่กับช่องเดิม ช่องใหม่ๆแย่งคนดูไปได้ไม่มาก เพราะคนรุ่นนี้ยังยึดติดกับแบรนด์เดิม ต้องรอคนรุ่นใหม่ที่โตมากับทางเลือกใหม่ ถึงจะย้ายไปดูช่องใหม่กัน
หากย้อนมาดูการเพิ่มช่องในอดีต จะเห็นว่ายุคสมัยการเกิดขึ้นของ ITV นั้น การแข่งขันอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน และเพิ่มแค่ช่องเดียว ดังนั้นโอกาสการอยู่รอดจึงสูง ITV ยุคนั้น แข่งกับช่องเดิมเพียงไม่กี่ช่องเท่านั้น
แต่การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลรอบนี้ นอกจากอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านแล้ว ระบบเก่าก็ยังอยู่ ระบบใหม่ก็จำนวนช่องมหาศาล และการดูชมช่องใหม่ก็ใช่ว่าจะสามารถกดรีโมทได้ทันทีเหมือนสมัย ITV แต่ต้องมาติดตั้งกล่อง ต้องมาปีนหลังคาบ้านเพื่อจะดูช่องใหม่ๆ ขณะที่ช่องเก่าๆก็ดีอยู่แล้ว ชาวบ้านไม่อยากเสียเงินเพิ่มหลัก 1,000 เพื่อมาดูของใหม่ที่ไม่แน่ใจว่าจะดีจริงหรือเปล่าหรอกครับ ผลก็คือช่องใหม่ๆ ก็ต้องล้มหายตายจากไป
อีกประการหนึ่งก็คือต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดซิครับ คนที่มาประมูลฝันหวานไปเอง ประมูลแข่งกันเอง ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องให้เขาล้มไปเอง และอย่าไปปรับเงินเขามากมายซิครับ
ฝันหวานกันมาเอง ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงเอง
ลองนึกถึงการมีห้างมาเปิดใหม่ในละแวกบ้าน พ่อค้า แม่ค้า ต่างฝันหวานว่าคนจะเข้าห้างเยอะ ขายดิบขายดี ยอมทุ่มเงินประมูลเปิดร้านกันคึกคัก ขายดีอยู่ราวๆ 6 เดือนแรก หลังจากคนหายเห่อห้างใหม่ ก็จะกลายเป็นดีมานด์ที่แท้จริง ร้านไหนไม่ติดตลาด อยู่ไม่รอด ก็ต้องปิดตัวไป ห้างเขาไม่คิดปรับค่าเช่าร้านที่ปิดตัวไปถึง 10 ปีข้างหน้าหรอกครับ อย่างมากก็ริบมัดจำไป
ดังนั้น วิธีเยียวยาที่เหมาะสมก็คือ รีบปิดสัมปทานระบบอนาลอกให้เร็วขึ้น ไม่ปรับช่องทีวีหากเขามองการณ์ผิดแล้วอยากปิดตัว การมาบังคับคนเดินห้างไปซื้อของในร้านเช่า มันเป็นแค่ประแส สุดท้ายร้านก็ปิดตัวอยู่ดี แถมการที่คนจะไปซื้อร้านไหน เดี๋ยวก็มีไต้โต้ะว่ามาซื้อร้านชั้นแถมน้ำดื่มฟรี ก็จะมีเรื่องปวดหัวไปตามแก้กันอีกนะครับ กสทช
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.