ล่าสุด

ประวัติความเป็นมาของทีวีดิจิตอลในประเทศไทย

history-of-thai-digital-tv

ประวัติความเป็นมาของทีวีดิจิตอลในประเทศไทย

การออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของไทยนั้น ได้มีการนำมาเสนอครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542 ในงานสัมนาวิชาการในหัวข้อ “DVB เทคโนโลยีแห่งอนาคต” ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว โดยการสัมนาครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก กลุ่มพัฒนาการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลแห่งยุโรป (Digital Television Development in Europe Group) หรือกลุ่ม DVB Forum และบริษัท NTL จากประเทศอังกฤษ

ในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมสัมนาทั้งหมด 270 คน คือ ข้าราชการสังกัดกรมประชาสัมพันธ์จำนวน 100 คน ทีเหลือเป็นเจ้าหน้าที่จากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เช่นช่อง 3 อสมท ช่อง 5 ททบ ช่อง 7 ททบ ช่อง 9 อสมท สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ในขณะนั้น) บริษัทให้บริการเคเบิ้ลทีวี UBC (ในขณะนั้น) รวมถึงตัวแทนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการส่งวิทยุโทรทัศน์

ในระยะเวลาต่อมาได้มีการทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2543 โดยมีคณะทำงานซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งโทรทัศน์เช่น อสมท กรมประชาสัมพันธ์ ITV , UBC เป็นต้น โดยมีการติดตั้งเครื่องส่งที่อาคารใบหยก 2 ทำการทดลองออกอากาศที่ช่อง 47 ความถี่ 678 – 686 MHz โดยใช้เครื่องส่งที่มีกำลังส่ง 250 Watt ทั้งนี้อุปกรณ์ DVB ที่ใช้ในการทดลองออกอากาศได้รับการสนับสนุนจากบริษัท NTL และเครื่องส่งโทรทัศน์ของ ITV สายอากาศที่ใช้เป็น Omnioid Pattern 11.5dB กำลังส่งออกที่สายอากาศจะอยุ่ที่ 2.5 KW รายการโทรทัศน์ที่ใช้ในการออกอากาศคือ ITV, ช่อง9, ช่อง 11 และ UBC

นับจากนั้นมาก็ไม่มีการดำเนินการใดๆเพิ่มเติมเพื่อทำการออกอากาศทีวิดิจิตอลในวงกว้าง อันเนื่องมาจากติดขัดในประเด็นข้อกฏหมาย โดยก่อนหน้ารัฐธรรมนูญปี 2540 การขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ทำได้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ รัญวิสาหกิจ หน่วยงานการศึกษาเท่านั้น จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาดิหรือ กสช แต่ด้วยเป็นเรื่องใหม่และภาวะทางการเมือง การกลัวการเสียผลประโยชน์หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่สามารถจัดตั้ง กสช ได้ มีการร้องคัดค้านตั้งแต่กระบวนการสรรหา หากใครติดตามข่าวสารในช่วงนั้นพบว่าเป็นเรื่องที่ชวนให้ปวดหัวมาก

จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้มีหน่วยงานที่เรียกว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 จำนวน 11 ราย ได้แก่

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี เป็นประธานกรรมการ
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นรองประธานกรรมการ
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นรองประธานกรรมการ
พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นกรรมการ
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เป็นกรรมการ
พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า เป็นกรรมการ
นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ เป็นกรรมการ
นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ เป็นกรรมการ
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นกรรมการ
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นกรรมการ พล.อ.
สุกิจ ขมะสุนทร เป็นกรรมการ

ประกาศ ณ วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2554 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

จากนั้นประมาณต้นปี 2555 พันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า กสทช. ได้แต่งตั้งอนุกรรมการการเปลี่ยนไปสู่ระบบการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และเตรียมวางแนวทางในการจัดให้มีการวางโครงข่ายการส่งสัญญาณ เพื่อให้ผู้ประกอบการสถานีทีวีดิจิตอลไม่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอง เพื่อลดความซ้ำซ้อนในด้านการลงทุน ไม่งั้นจะเกิดสภาวะ 50 ช่องทีวีจะมี 50 เสาส่งอันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

นับจากวันนั้นหลังจากมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก็ได้มีการจัดทำแผนแม่บท ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2555 หน้า 45 เล่ม 129 ตอนพิเศษ 189 ง มีความยาวทั้งหมด 15 หน้า อันถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการทีวีดิจิตอลในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

การทดลองออกอากาศจึงเริ่มอีกครั้งเมื่อตอนต้นปี 2556 ซึ่งระหว่างนั้นก็เข้าสู่กระบวนการร่างข้อกำหนดต่าง และจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ จนได้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเชิงธุรกิจจำนวน 24 ช่องและอยู่ในช่วงเริ่มต้นทดลองออกอากาศอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน

Advertisment

Leave a comment