ล่าสุด

สตง. ระบุการใช้วิธีแจกคูปองส่อมีปัญหาเพียบและเปิดช่องทุจริต

สตง. ระบุการใช้วิธีแจกคูปองส่อมีปัญหาเพียบและเปิดช่องทุจริต

ผ่านมาแล้ว 2 เดือนสำหรับการเปิดให้ประชาชนนำคูปองที่ได้รับแจกเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาลอกเป็นดิจิตอลไปแลกกล่องทีวีดิจิตอลตามห้างร้านต่างๆ สตง. เผยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เกาะติดการดำเนินงานในภาพรวม หลังพบวิธีการส่อมีปัญหาหลายแง่มุมและเปิดช่องให้มีการทุจริต เคยเสนอแนะวิธีการไปแล้วซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้มาก แต่ทาง กสทช. ไม่รับฟัง

sor-tor-ngor

แหล่งข่าวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยต่อสำนักข่าวอิศราเผยว่า จากเหตุการณ์กรณี บริษัท วินเนอร์ ดิจิตอล และบริษัท การศึกษาก้าวไกล ที่มีข่าวว่ามีการแจกใบปลิวให้กับประชาชนล่วงหน้าหลายแสนใบทั้งๆที่ กสท. ยังไม่ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมก็ตาม จึงเห็นว่าจากกรณีดังกล่าววิธีการแจกคูปองอาจจะไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม

เหตุเพราะหากทาง กสทช. ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ไม่มีการหาวิธีการควบคุมและป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านด้วยการแจกคูปองจึงเป็นช่องทางที่อาจจะเกิดการทุจริตได้ง่าย อาจจะทำให้รัฐสูญเสียเงินจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์

แหล่งข่าวยังเปิดเผยอีกว่า การแจกคูปองทีวีดิจิตอลนั้น ทาง สตง. เคยเสนอแนะไปยัง กสทช. ให้พิจารณาทบทวนมติในเรื่องการกำหนดมูลค่าคูปองด้วยความรอบคอบถี่ถ้วน เพราะหากกำหนดราคาสูงกว่าข้อเท็จจริงก็จะเป็นการบิดเบือนราคาตลาด ผู้ประกอบการจะได้รับกำไรที่สูงเกินควร และอาจจะทำให้รัฐสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมาก (ผลจากจดหมายฉบับนี้ทำให้เราได้เห็นราคาคูปองที่ 690 บาท ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ – admin)

ส่วนวิธีการแจกคูปองนั้นทาง สตง. เห็นว่า หากมีการดำเนินการแจกคูปองทุกครัวเรือนอาจจะเป็นช่องทางในการทุจริตได้โดยง่าย จึงเสนอว่าควรให้มีการลงทะเบียนใช้สิทธิ ทั้งนี้เพื่อให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนั้นถึงมือผู้มีสิทธิและเป็นผู้ที่ต้องกรใช้สิทธิที่แท้จริง ซึ่งวิธีการที่ สตง. ได้ให้ความเห็นไว้นั้น ก็เพื่อลดวิธีการแจกคูปองซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งการจัดพิมพ์ และการนำส่ง ที่ใช้งบประมาณกว่า 900 ล้านบาท

แต่หากเป็นวิธีการขอใช้สิทธิ เมื่อประชาชนมายื่นขอใช้สิทธิ กรมการปกครองตรวจสอบสิทธิแล้ว ให้มีการออกใบรับรองสิทธินั้น โดยจุดประสงค์ของ สตง. ที่เสนอวิธีนี้เพื่อให้มีการใช้ใบรับรองสิทธิแทนคูปองนั่นเอง

การใช้วิธีการนี้เพียงแค่ สำนักงาน กสทช. หาวิธีการในการควบคุมและตรวจสอบสิทธิพร้อมออกใบรับรองการใช้สิทธิร่วมกับกรมการปกครองเท่านั้น เนื่องจากระบบสารสนเทศก็เป็นการใช้ของกรมการปกครองซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว เพียงแค่หามาตรการในการป้องกันการออกใบรับรองสิทธิซ้ำจากระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น ซึ่งจะใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก

ที่มา isaranews.org

Advertisment

Leave a comment