ล่าสุด

โครงข่ายทีวีดิจิตอลคืออะไร

DigitalTV-network

โครงข่ายทีวีดิจิตอลคืออะไร

ข่าวการประมูลทีวีดิจิตอลนั้นจะเป็นเรื่องของผู้ให้บริการเนื้อหาของทีวี หรือเราอาจจะรู้จักกันในปัจจุบันคือช่องต่างๆ อย่าง 3 5 7 9 เป็นต้น แต่หลายคนอาจจะยังงง กับอีกข่าวหนึ่งคือ โครงข่ายทีวีดิจิตอลมันคืออะไร วันนี้เราลองมาทำความเข้าใจกันนะครับ

เพื่อให้เข้าใจเรื่องทีวีดิจิตอลใด้ดีขึ้น ก็จะขออธิบายถึงหลักการส่งสัญญาณทีวีระบบภาคพื้นก่อนนะครับ และจะได้นำไปสู่ระบบโครงข่ายทีวีดิจิตอลในช่วงท้าย

การส่งสัญญาณทีวีในระบบภาคพื้นดินนั้น จะเป็นการแพร่ภาพทีวีด้วยคลื่นวิทยุผ่านไปทางอากาศ โดยอาศัยการส่งสัญญาณผ่านเสาอากาศสูงๆ คลื่นจะวิ่งเป็นเส้นตรง ไม่สะท้อนกับชั้นบรรยากาศ มีระยะทางจำกัดตามกำลังส่งและส่วนโค้งของผิวโลก หากมีสิ่งปลูกสร้างหรือภูเขาขนาดใหญ่บัง สัญญาณก็จะลดน้อยลงหรือแทบไม่มีเลย อาจจะต้องใช้เสารับสัญญาณสูงๆช่วยหากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เราจึงมักจะพบเห็นเสาสัญญาณสูงๆตามยอดเขาต่างๆ ซึ่งก็เสาส่งสัญญาณในระบบนี้นั่นเอง

ในการที่จะให้สามารถส่งสัญญาณได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ผู้ประกอบกิจการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในแต่ละช่อง จึงต้องมีการจัดวางโครงข่ายส่งสัญญาณแพร่ภาพของตนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจะต้องมีการกำหนดวางเสาส่งสัญญาณเป็นช่วงๆ ไปทั่วประเทศหรือที่รู้จักกันว่าเป็น Relay Station หรือสถานีทวนสัญญาณ หรือ Repeater ในกรณีพื้นที่อยู่ห่างไกลมากๆ

การส่งสัญญาณแบบนี้แต่ละเจ้าหรือแต่ละช่องก็ต้องมีระบบโครงข่ายของตนเอง ของใครของมัน ปัจจุบันในไทยเรามีอยู่ 6 ช่อง ก็แสดงว่ามี 6 โครงข่ายซ้อนทับกันอยู่ทั่วประเทศ บางโครงข่ายอาจจะลดต้นทุนมีข้อตกลงกับบางเครือข่ายในการใช้ทรัพยากรร่วมกันก็มี เช่นเสาของช่อง 7 แต่ช่อง 5 ขอเอาไปสัญญาณไปติดตั้งไว้ด้วยและในทางกลับกันก็เช่นกัน ดังนั้นการตั้งสถานีหรือช่องใหม่ขึ้นมาจึงต้องลงทุนมหาศาลไปกับการวางระบบเครือข่ายถ่ายทอดสัญญาณ ทั้งที่ตั้ง อุปกรณ์ ระบบไฟฟ้า คนเฝ้า จึงมีจำนวนช่องที่จำกัดเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน

แต่เมื่อเราเปลี่ยนระบบถ่ายทอดสัญญาณเป็นระบบทีวีดิจิตอล การใช้คลื่นความถี่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในช่วงคลื่นความถี่เดิมสำหรับระบบอนาลอก 1 ช่องนั้นสามารถส่งสัญญาณระบบทีวีดิจิตอลได้ถึง 8 ช่อง (ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดความคมชัดและเทคนิคที่ใช้ในการส่งสัญญาณ) นั่นหมายถึงว่าเดิมเรามีช่องแบบอนาลอกอยู่ 6 ช่อง เราก็จะสามารถมีช่องทีวีดิจิตอลบนคลื่นความถี่เท่าเดิม กับบนระบบเสาส่งแบบเดิมได้เป็น 48 ช่องด้วยกัน

หรือหากมองอีกนัยหนึ่ง ช่องทีวีเดิมๆ อย่าง 3 5 7 9 NBT TPBS หกช่องเดิมก็สามารถส่งสัญญาณผ่านระบบเครือข่ายเดียวเท่านั้นหากเป็นระบบดิจิตอล ที่เหลือก็สามารถเพิ่มขึ้นมาได้อีก 42 ช่องด้วยกัน

ทีวีดิจิตอลเจ้าใหม่ไม่ต้องสร้างระบบโครงข่ายเอง

ด้วยระบบพื้นฐานนี้ทำให้การเปิดช่องใหม่ในระบบทีวีดิจิตอลนั้น ผู้ประกอบการด้านรายการไม่จำเป็นต้องลงทุนกับระบบพื้นฐานนี้อีกต่อไป เพราะมีพร้อมอยู่แล้ว ผู้ที่ประมูลช่องสัญญาณได้ก็เพียงแค่จ่ายเงินชำระค่าเช่าใช้บริการโครงข่าย ก็สามารถส่งสัญญาณออกอากาศทีวีระบบดิจิตอลได้ทันที ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเป็นหมื่นล้านเพื่อจัดหาที่ สร้างเสาอากาศ หาคนมาเฝ้าสถานีส่งสัญญาณตามยอดเขาต่างๆอีกต่อไป

หากจะเปรียบเทียบก็เหมือนระบบไปรษณีย์ที่หากเราต้องการส่งจดหมายไปทุกๆที่ทั่วประเทศ เราก็ไม่จำเป็นต้องจ้างคนไปส่งเอง กระจายจดหมายเอง เพียงแค่ติดแสดมป์แล้วขนไปยังไปรณีย์ใกล้บ้าน เขาก็จะจัดส่งให้เราตามระบบโครงข่ายการขนส่งที่เขามีอยู่แล้ว โดยเราไม่จำเป็นต้องไปจัดหารถ หาคนมาแจกจ่ายจดหมายแต่ละฉบับตามบ้านต่างๆเอง

ในส่วนของราคาค่าเช่าโครงข่ายในปัจจุบันก็มีการประกาศออกมาแล้ว โดยผู้ให้บริการ 4 รายคือ ไทยพีบีเอส กรมประชาสัมพันธ์ กองทับบก และ อสมท ซึ่งราคาต่ำสุดสำหรับความคมชัดธรรมดาอยู่ที่ 4.6 ล้านบาทต่อเดือน รายละเอียดตามกระทู้ กสท เคาะราคาค่าเช่าแล้ว

Advertisment

Leave a comment