ล่าสุด

จะใช้เสาอากาศทีวีดิจิตอลแบบไหนดี

จะใช้สายอากาศทีวีดิจิตอลแบบไหนดี

ผ่านมาระยะหนึ่งแล้วนะครับสำหรับการรับชมทีวีดิจิตอล ช่วงหลังๆ ปัญหาคำถามว่าจะซื้อกล่องทีวีดิจิตอลยี่ห้อไหนดีเริ่มเบาบางลง แอดมินสังเกตจากคำค้นที่เข้ามาเริ่มจะมีคำค้นว่าเสาอากาศแบบไหนดีเข้ามามากขึ้น และพอดีไปพบเห็นภาพที่ทาง samart เขาทำมาเลยจะนำมาขยายความพร้อมคำแนะนำเล็กๆน้อยๆ อีกที

หากมั่นใจแล้วว่าที่บ้านของท่านสามารถติดตั้งสายอากาศเองได้ ไม่ต้องรอให้ทางคอนโดหรือหอพักปรับปรุงระบบสายอากาศรวม (MATV) สิ่งที่ท่านต้องเริ่มต้นพิจารณาในการเลือกหาสายอากาศก็คือต้องหาว่าตำแหน่งที่ตั้งของท่านนั้น ห่างจากเสาส่งมากน้อยแค่ไหนก่อน เพราะที่ผ่านมาพบว่าจะมีคำถามว่าจะเลือกสายอากาศแบบไหน แต่ไม่บอกว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ต้องถามกันอีกรอบ เนื่องจากระยะทางจะเป็นตัวกำหนดว่าเสาอากาศแบบไหนถึงจะเหมาะสม

เรามาเริ่มกันเลยนะครับว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อที่จะได้รู้ว่าจะใช้เสาอากาศทีวีดิจิตอลแบบไหนดี

1. หาตำแหน่งที่ตั้งของเสาส่ง

หากท่านอยู่ กทม ก็คงไม่เป็นเรื่องยากที่จะหาตำแหน่งเสาส่ง เพราะเป็นที่รู้จักกันดีว่าคือตึกใบหยก 2 ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดใน กทม และอยู่กลางเมืองพอดี และจุดเด่นของระบบทีวีดิจิตอลก็คือ ผู้ให้บริการทุกเครือข่ายจะอยู่ที่เสาส่งเดียวกัน ไม่ต้องซื้อหาแผงสายอากาศหลายแผงให้วุ่นวาย

หากท่านอยู่ ต่างจังหวัดก็อาจจะต้องหาว่าเสาส่งใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน ลองศึกษา ตารางแผนความถี่ทีวีดิจิตอลอย่างย่อนี้ดู จะมีการระบุจังหวัดและตำแหน่งที่ตั้งเสาส่งพร้อมสรรพ ท่านเพียงแค่เอาตำแหน่งละติจูด และลองจิจูด ไปใส่ข้อมูลเข้ากับโปรแกรม Google Earth ก็จะสามารถทราบตำแหน่งได้ทันที โปรแกรมนี้หาโหลดได้ฟรีจากการค้นหาผ่าน google เลยครับ รองรับทั้งเครื่อง Windows และ Mac ครับ เวลาเปิดใช้โปรแกรมต้องต่อเน็ตไว้ด้วย

Google-Earth-App

เปิดโปรแกรม Google Earth เสร็จแล้วรอซักแป้บเอาตำแหน่งเสาส่งกทมที่ 13.754444 100.540000 ใส่เข้าไปในช่องค้นหาก็จะเจอตำแหน่งของตึกใบหยกซึ่งอาจจะไม่เป้ะนะครับ เหมือนจะห่างไปซักประมาณ 200 เมตร ก็ถือว่ายังยอมรับได้

Google-Earth-Baiyok

2. วัดระยะห่างจากเสาส่งไปยังบ้านของท่าน

เมื่อได้ตำแหน่งเสาส่งแล้ว ก็ให้ตำแหน่งที่อยู่ของท่าน จากนั้นก็สามารถใช้ฟังก์ชั่นไม้บรรทัด (Ruler) วัดระยะทางจากตำแหน่งตึกใบหยกไปตำแหน่งต่างๆได้ เช่นตัวอย่างในภาพ

Google-Earth-15km

อย่างภาพตำแหน่งสำนักงานเขตบางแคนั้นจะอยู่ห่างจากตึกใบหยกประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งก็เท่าๆกับเขตบางเขนและบางนา

Google-Earth-35km

ไกลออกมาหน่อยที่ตัวเมืองสมุทรสาคร จะห่างจากเสาส่งทีวีดิจิตอลประมาณ 35 กิโลเมตร ที่ทำการ อบต.คลองหนึ่งจะห่างประมาณ 30 กิโลเมตร สำนักงานเขตหนองจอกก็จะห่างประมาณ 35 กิโลเมตรเช่นกัน

3. เลือกสายอากาศที่เหมาะสม

เมื่อได้ระยะห่างจากเสาส่งแล้ว ท่านก็ลองดูสภาพที่อยู่ของท่านว่าเป็นที่ต่ำหรือที่สูง มีตึกรามบ้านช่องหรือต้นไม้บดบังมากแค่ไหน เพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าท่านจะต้องตั้งเสาอากาศสูงจากพื้นดินเท่าไหร่ แล้วเลือกสายอากาศตามความเหมาะสมกับระยะทางดังภาพ

Digital-Antenna-Samart
ที่มา: บริษัทสามารถ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อของสามารถก็ได้นะครับ แต่ขอบคุณสำหรับภาพนี้ครับ

จากภาพจะเห็นได้ว่าในรัศมี

0 – 20 กิโลเมตร ท่านจะสามารถใช้สายอากาศแบบหนวดกุ้งได้ ซึ่งจะมีราคาถูกที่สุด และไม่จำเป็นต้องเปิดไฟเลี้ยง

20 – 30 กิโลเมตร สามารถใช้เสาอากาศภายในบ้านแบบมีไฟเลี้ยง หรือภาษาเทคนิคเรียกกันว่าเสาอากาศแบบ Active จะมีวงจรขยายสัญญาณหรือบู๊สเตอร์ในตัว ซึ่งกล่อง set top box ทุกกล่องจะสามารถจ่ายไฟเลี้ยง 5V ได้อยู่แล้วตามสเป็คของ กสทช สำหรับรุ่นที่มีวางจำหน่ายลองดูข้อมูลตรงนี้นะครับ เสาอากาศทีวีดิจิตอลแบบ Active

30 – 50 กิโลเมตร สายอากาศแบบ 3E หรือ 3 ก้าน (รวมก้านที่ต่อสายสัญญาณออกมาด้วย) โดยควรจะเป็นการติดตั้งภายนอกอาคาร หันด้านที่สั้นที่สุดไปยังสถานีส่ง

50 – 60 กิโลเมตร สายอากาศแบบ 5E

60 – 70 กิโลเมตร สายอากาศแบบ 9E, 14E

ไกลกว่า 70 กิโลเมตร ควรจะใช้ 14E – 29E

ข้อมูลสายอากาศแบบก้างปลาเพิ่มเติมอ่านได้ที่นี่ครับ สำรวจเสาอากาศแบบก้างปลา

ปัญหาของสายอากาศแบบมีอีลิเม้นท์เยอะๆ (E สูงๆ) คือมุมในการรับสัญญาณจะแคบลง ทำให้ต้องหันเสาอากาศให้ตรงตำแหน่งจริงๆ และต้องยึดเสาให้แน่นหนา อาจจะต้องมีการขึงลวดยึดเสาไว้ด้วย เพราะหากลมพัดแรง เสาโยกก็อาจจะทำให้สัญญาณลดลงไปได้อย่างมาก

การทดสอบสายอากาศควรจะทดสอบในช่วงกลางวัน เนื่องจากคลื่นวิทยุจะเดินทางได้ไม่ดีในตอนกลางวัน เพราะหากทดสอบตอนค่ำๆ หรือกลางคืนอาจจะดูได้ชัดทุกช่อง แต่ตอนกลางวันสัญญาณอาจจะขาดหายไปสำหรับบางช่องก็ได้

ดังนั้นการเลือกสายอากาศนั้นเรื่องระยะทางจะมีความสำคัญมาก และยิ่งติดตั้งได้สูงเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ควรยึดให้แน่นหนาเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของแผงสายอากาศ หากมีการใช้สายอากาศภายในบ้าน ท่านอาจจะต้องลองขยับสายอากาศไปมา เปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนมุมเหมือนกับที่เคยทำกับทีวีระบบอนาลอกนั่นแหละครับ เพื่อให้รับชมได้ทุกช่อง เนื่องจากแต่ละ MUX นั้นส่งมาในย่านความถี่ที่ต่างกัน ความแรงของสัญญาณจึงอาจจะแตกต่างกัน

สำหรับช่างติดตั้งสายอากาศก็ควรจะติดตั้งโปรแกรม google earth ไว้ที่สำนักงานเลยครับ และศึกษาตำแหน่งต่างๆในแผนที่ไว้ให้ดี เวลาลูกค้าโทรมาปรึกษาก็สามารถให้คำแนะนำได้ทันทีว่า สายอากาศแบบไหนเหมาะสมที่สุดกับตำแหน่งที่อยู่ของลูกค้า

Advertisment

Leave a comment