ล่าสุด

การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล กรณีศึกษาประเทศเคนยา

analogue-tv-switch-off

การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล กรณีศึกษาประเทศเคนยา

การเปลี่ยนผ่านจากระบบทีวีอนาลอกเป็นทีวีดิจิตอลในเคนยา (Kenya) ทำได้อย่างไร และทำไม

หลังจากก่อนหน้านี้ทาง ThaidigitalTelevision ได้นำเสนอการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล (Digital Switchover) ของประเทศอังกฤษซึ่งถือเป็นประเทศชั้นนำของโลกมาแล้ว คราวนี้เรามาดูประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกานะครับ ซึ่งถือเป็นประเทศที่ไม่ได้ถือว่าร่ำรวยนัก แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาว่าประเทศในโลกที่สามประเทศนี้เขาผ่านประสบการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลได้อย่างไร

การเปลี่ยนผ่านในประเทศเคนยา (Kenya) เกิดขึ้นหลังเที่ยงคืนของคืนวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยมีการปิดระบบส่งสัญญาณแบบอนาลอกโดยสิ้นเชิงของสถาโทรทัศน์ Kiss Television อันถือเป็นการปิดศักราชของการดูทีวีของประชาชนเคนยาเป็นส่วนใหญ่ก็ว่าได้

การออกอากาศในระบบโทรทัศน์ครั้งแรกของเคนยานั้น เกิดขึ้นก่อนวันประกาศอิสรภาพของประเทศประมาณ 1 ปี โดยเป็นการออกอากาศจากฟาร์มแห่งหนึ่งในเมือง Limuru โดยองค์กรที่เป็นของรัฐบาลเคนยา ชื่อ Kenya Broadcasting Corporation ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Voic of Kenya และจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น KBC อีกครั้ง ซึ่งมีรัศมีการส่งสัญญาณประมาณ 24 กิโลเมตร

และหลังจากวันที่ 27 ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา การส่งสัญญาณโทรทัศน์ทุกช่องก็จะเป็นระบบดิจิตอลแทนที่จะเป็นอนาลอกแบบเดิม

เป็นที่ทราบกันดีในแง่มุมทางด้านเทคนิคนะครับว่า การส่งสัญญาณแบบอนาลอกนั้นเหมือนการส่งสัญญาณแบบดิบๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของความแออัดของจำนวนช่องสัญญาณที่เริ่มจะเต็มทุกช่วงความถี่ ตัวอย่างเช่นในเมืองไนโรบี (Nairobi) มีช่องสัญญาณให้ออกอากาศได้เพียง 17 สถานีในระบบอนาลอก ซึ่งปัจจุบันเต็มทุกช่อง การจะเปิดทีวีช่องใหม่จะต้องเป็นการแทนที่ช่องทีวีเก่าหรือไม่ก็ต้องซื้อช่องทีวีปัจจุบันไป

การแก้ปัญหาอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ระบบการส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิ้ล แต่โดยส่วนใหญ่แล้วทั่วโลกเขาก็จะไม่นิยมวิธีการนี้ในการเข้าถึงชนหมู่มากกัน

การออกอากาศผ่านระบบสายอากาศหากจะแก้ปัญหาเรื่องจำนวนช่องเต็มก็สามารถทำได้ด้วยการส่งสัญญาณระบบดิจิตอล เนื่องจากทีวีดิจิตอลนั้นการออกอากาศสามารถทำได้หลายช่องสำหรับช่วงความถี่เดียวกัน ซึ่งหากกลับไปเปรียบเทียบกับระบบอนาลอกแล้วจะสามารถส่งสัญญาณได้เพียงช่องเดียวเท่านั้น หลักการง่ายๆคือการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลจะเอาสัญญาณที่ต้องการออกอากาศมาเข้ารหัสแบบดิจิตตอลแล้วใส่เป็นแพคเก็ตแล้วส่งสัญญาณออกอากาศอีกที

ตัวอย่างความแตกต่างของการออกอากาศด้วยลักษณะสัญญาณทั้งสองแบบ ทางหน่วยงานด้านการสื่อสารของเคนยากล่าวว่า สามารถออกใบอนุญาตการออกอากาศได้ถึง 60 ช่องสำหรับการออกอากาศทีวีดิจิตอล ซึ่งปัจจุบันออกอากาศอยู่ 20 ช่องด้วยกัน

ก่อนหน้าปี 1990 การออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลนั้นมีต้นทุนที่สูงและยากที่จะออกอากาศไปสู่บ้านเรือนต่างๆ แต่ในปี 1991 กลุ่มของผู้ออกอากาศได้รวมตัวกันเพื่อจะหาหนทางที่เป็นไปได้ในการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลไปสู่บ้านเรือน ผลอันนี้นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการออกอากาศระบบดิจิตอลและมาตรฐานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกระบวนการที่จะออกสู่ประชาคมอื่นๆทั่วโลก

อย่างไรก็ตามการส่งสัญญาณทีวีผ่านดาวเทียมนั้นถือว่าเป็นการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลรูปแบบหนึ่งมานานแล้ว การออกอากาศทีวีดิจิตอลดาวเทียมหรือ DStv นั้นมีมาตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งเป็นคำตอบที่ว่าปัจจุบันทำไมถึงมีช่องทีวีดาวเทียมมากมาย แน่นอนว่าเราก็ต้องมีกล่องแปลงสัญญาณอันเนื่องมาจากสัญญาณถูกเข้ารหัสเพื่อป้องกันคนที่ไม่จ่ายเงินไม่ให้สามารถดูฟรีได้

ในปี 2006 การประชุมของ ITU หรือ Internation Telecommunications Union อันเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติด้านการสื่อสารของโลกในกรุงเจนีวา ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าในวันที่ 17 มิถุนายน 2015 จะเป็นวันที่ ที่ทวีปแอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และประเทศอิหร่านจะมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ

เนื่องจากการส่งสัญญาณทีวีนั้นไม่มีขอบเขตอันจำกัด จึงต้องมีการประสานงานกันเพื่อที่จะไม่ให้เกิดสัญญาณรบกวนกันเมื่อบางประเทศเปลี่ยนผ่านเป็นระบบทีวีดิจิตอล การสร้างมาตรฐานดังกล่าวจะต้องทำให้ความสามารถในการเข้าถึงกล่องแปลงสัญญาณนั้นเป็นไปได้ มีราคาไม่แพงมาก อันรวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการส่งสัญญาณ และเครื่องรับทีวีด้วย

การออกอากาศระบบทีวีดิจิตอลของเคนยา

กระบวนการอันยาวนานและยากลำบากของเคนยาในการเปลี่ยนผ่านเป็นระบบทีวีดิจิตอลเริ่มต้น 9 ธันวาคม 2009 เมื่อประธานาธิบดี Mwai Kibaki ได้เปิดตัวสตูดิโอ Signet

ตรงข้ามกับการออกอากาศระบอนาลอกที่แต่ละสถานีจะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือของตัวเอง และออกอากาศด้วยตัวเอง แต่การออกอากาศระบบทีวีดิจิตอลในแอฟริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง จะจำกัดใบอนุญาตอยู่ที่ 1 หรือ 2 รายเท่านั้น

นั่นหมายถึงว่าการออกอากาศระบบทีวีดิจิตอลจะมีการแยกกันระหว่างผู้ออกอากาศในแง่ของเนื้อหา กับผู้กระจายสัญญาณออกจากกัน ระบบนี้จะช่วยให้การใช้งานย่านความถี่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสื่อสารสัญญาณที่มีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ หากปล่อยให้แต่ละช่องต่างต้องส่งสัญญาณกันเอง ต้นทุนโดยรวมก็จะสูง และต้องมีการเจรจาตกลงทางด้านเทคนิคกันมากขึ้นเพื่อลดการรบกวนสัญญาณต่อกัน

อีกประโยชน์หนึ่งของระบบทีวีดิจิตอลก็คือการที่สามารถปลดปล่อยบางช่วงความถี่ออกมาใช้งานอื่นได้ ซึ่งในย่านแอฟริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง จะมีการนำระบบมาใช้กับระบบการสื่อสารแบบ 4G LTE แทน ในย่านความถี่ประมาณ 800 MHz นั้นเหมาะสำหรับการส่งสัญญาณที่ได้ระยะไกลขึ้นเมื่อเทียบกับระบบ 3G ที่ช่วงความถี่ 2100 MHz นั่นหมายถึงสถานีส่งสัญญาณที่มีจำนวนน้อยลง นอกจากนี้แล้วประเทศอย่างเคนยาที่ความถี่ในย่านอื่นๆถูกใช้ไปหมดแล้ว (ซึ่งย่าน 4G ในปัจจุบันถูกนำมาใช้ในด้านการสื่อสารของทหาร)

การเปิดตัวของทีวีดิจิตอลโดยประธานาธิบดี Kibaki ในต้อนนั้นจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีบรรดาสถานีโทรทัศน์เอกชนภายในประเทศ ซึ่งต่างก็ออกมาขานรับกันอย่างพร้อมเพรียงว่าพร้อมเข้าสู่ระบบทีวีดิจิตอลกันแล้ว

เสียงตอบรับเริ่มแผ่ว

จากนั้นไม่นานเสียงตอบรับจากภาคเอกชนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อบรรดาสถานีทีวีต่างๆเริ่มตระหนักว่าจะมีการออกใบอนุญาตให้กับเครือข่ายกระจายสัญญาณ (Carrier) หรือโครงข่ายทีวีดิจิตอล ในจำนวนที่จำกัด

ต่อมาก็มีการเปิดตัวของ StarTimes ซึ่งเป็นช่องออกอากาศทีวีดิจิตอลแบบบอกรับสมาชิก ซึ่งในตอนนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับรัฐบาลยังดีอยุ่ รัฐก็รับปากว่าจะมีการออกใบอนุญาตใบที่สามสำหรับโครงข่ายทีวีดิจิตอลตามมา

แต่รัฐบาลเองก็กลับไปกลับมา จากคำสัญญาณว่าจะมีเครือข่ายที่ 3 เป็นว่าจะขายหุ้นของโครงข่ายดิจิตอลเจ้าแรกคือ Signet ออกมาแทน

StarTimes

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์เอกชนในเคนยานั้นต่างก็แยกตัวออกมาโดดเดี่ยวจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นระบบทีวีดิจิตอลกันหลายเจ้า โดยงดส่งสัญญาณผ่านระบบโครงข่ายและดำเนินการฟ้องศาลช่องแล้วช่องเล่าเพื่อจะถ่วงเวลาหรือหน่วงกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลให้นานที่สุด

StarTimes เป็นหนึ่งในสองทีวีดิจิตอลบอกรับสมาชิกของเคนยา ซึ่งหากเรากลับไปยังเรื่องความแตกต่างของระบบทีวีแบบอนาลอกกับดิจิตอลก่อนหน้านี้แล้ว พบว่าการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลสามารถส่งทีวีได้จำนวนหลายช่องรวมถึงระบบความคมชัดสูง รวมถึงการเข้ารหัสสัญญาณได้ด้วย ทำให้สามารถเป็นระบบบอกรับสมาชิกได้เหมือนทีวีดาวเทียมได้ ซึ่ง StarTimes ก็ดำเนินการอยู่ในลักษณะนี้

StarTimes ส่งสัญญาณออกอากาศในเคนยาผ่านโครงข่ายทีวีดิจิตอลเจ้าที่สองคือ Pan African Networks Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจากจีน

ส่วน Signet ผู้ได้รับอนุญาตโครงข่ายทีวีรายแรก ก็มีการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลแบบบอกรับสมาชิกอยู่เหมือนกันนั่นคือ GOtv

ความสัมพันธ์กับนักธุรกิจจากจีน

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใดๆมาพิสูจน์ได้ว่า StartTimesนั้นมีความเชื่อมโยงกับ Pan African Network Group และทั้งสองก็ออกมาปฏิเสธข่าวอย่างแข็งขัน แต่หากสาวไปลึกๆแล้วพบว่า StarTimes นั้นมีต้นกำเนิดมาจาก StarTimes Group จากประเทศจีน

ในแอฟริกานั้นการเปลี่ยนผ่านจากระบบทีวีอนาลอกเป็นทีวีดิจิตอลนั้นจะเห็นการปรากฏตัวของ StarTimes ทั้งในประเทศเคนยา แทนซาเนีย อูกานดา รวันดา และไนจีเรีย และอีกอย่างน้อย 9 ประเทศในแอฟริกา ซึ่งรวมๆกันแล้วอย่างน้อย 14 ประเทศ

StarTimes ยังเข้าไปซื้อ TopTV ซึ่งเป็นผู้ออกอากาศทีวีดาวเทียมของแอฟริกาใต้ ซึ่งมีข่าวลือถึงการพยายามขยายตัวให้ทั่วทวีปแอฟริกาในการขยายการออกอากาศแข่งกับระบบทีวีดาวเทียม ซึ่งหากเป็นจริงใน Kenya ก็จะเห็น StarTimes และ DStv แข่งขันกันทั้งในระบบทีวีดาวเทียมและทีวีบอกรับสมาชิกในระบบดิจิตอลด้วย

ใบอนุญาตที่ 3

ในขณะที่รัฐบาลได้รับปากว่าจะออกใบอนุญาตให้รายที่ 3 กับบริษัทท้องถิ่น หน่วยงานการสื่อสารของเคนยากล่าวว่าอาจจะเป็นไปไม่ได้เนื่องจากขาดแคลนความถี่ ในทางกลับกันรัฐบาลก็ได้เสนอให้บริษัทท้องถิ่นเข้ามาถือหุ้นใน Signet แต่ก็อาจจะไม่ง่ายนักเพราะถือว่าเป็นหนทางทำเงินให้รัฐจากการบอกรับสมาชิกผ่าน GOtv และช่องทีวีบอกรับสมาชิกอื่นๆ

สื่อท้องถิ่นต่อต้าน

สื่อท้องถิ่นอย่าง Royal Media (Citizen TV) Nation Media Group (NTV) และ Standard Media Group (KTN) ตอนหลังต่างก็หันหลังให้กับกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล เมื่อทราบว่าตัวเองคงพลาดไม่ได้รับใบอนุญาตเปิดโครงข่ายทีวีดิจิตอลแน่นอน

และแล้วก็เริ่มเห็นบรรดาสื่อท้องถิ่นพยายามถ่วงเวลากระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลด้วยการฟ้องร้องต่อศาล นอกจากนี้แล้วบรรดาสื่อเหล่านี้ต่างก็ไม่ได้ออกอากาศข่าวสาธารณะจากหน่วยงานการสื่อสารของเคนยาและ StarTimes ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลแม้ว่าจะมีการจ่ายเงินให้แล้วก็ตาม และไม่ออกข่าวด้านนี้เลย

ประเด็นหลักของการต่อต้านก็คงเป็นเรื่องการสูญเสียความสามารถในการควบคุมการออกอากาศสัญญาณในระบบเดิมของสื่อท้องถิ่นเหล่านี้ การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาลอกเป็นทีวีดิจิตอลทำให้มีคู่แข่งเข้ามาในตลาดมากมายซึ่งเมื่อก่อนทำไม่ได้เพราะต้นทุนสูง ในตอนนี้แค่มีรายรับต่อเดือนเพียง 200,000 ถึง 500,000 KSh ก็สามารถเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ได้แล้ว ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่ารถยนต์ Toyota Probox ซึ่งเป็นรถยนต์ที่พบเห็นได้ทั่วไปบนท้องถนนของเคนยาเลยก็ว่าได้

การมีหน้าใหม่เข้าสู่วงการเป็นจำนวนมากทำให้เจ้าของทีวีแบบเก่าเกิดความเสี่ยงเป็นอย่างมาก ด้วยตัวเลือกช่องทีวี 30 ถึง 60 ช่อง ทำให้ผู้ลงโฆษณามีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของ Free TV ทุกช่อง รายได้แต่ละช่องก็จะน้อยลงเพราะจะต้องมีการลงโฆณษาในจำนวนช่องที่มากขึ้น

ผลคือช่องทีวีเดิมจะต้องมีความลำบากมากขึ้นในการที่จะรักษาผู้ชมของตัวเองไว้ ซึ่งเป็นหากเราเป็นเขาก็คงไม่อยากทำอะไรที่ตัวเองต้องเสียประโยชน์แบบนั้น

ประเด็นที่ขาดหายไป อิสรภาพ และต้นทุน

ผลจากวิสัยทัศน์ที่แคบและออกมาต้านกระแสที่ไหลเชี่ยวกลับเป็นผลเสียมากกว่า ประเด็นที่ต้องพูดถึงก็คือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งสองรายนั้น รายหนึ่งเป็นของรัฐ อีกรายก็เป็นของบริษัทต่างชาติที่ควบคุมโดยรัฐอีกทีนึง (นักธุรกิจชาวจีนก็ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นมิตรกับรัฐบาลอยู่แล้ว) นั่นหมายถึงว่าหากทางรัฐบาลไม่พอใจกับสิ่งที่กำลังออกอากาศหรือไม่พอใจสถานีทีวีบางช่อง รัฐอาจจะเข้ามาควบคุมว่าเราจะสามารถรับชมทีวีช่องไหนบ้างก็ได้

ในประเด็นนี้ให้คิดถึงช่วงการเลือกตั้งหรือช่วงจลาจลหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 1998 เป็นต้น รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ออกกฏหมายควบคุมสื่อ หวังเพียงอย่างเดียวว่าศาลอาจจะเป็นที่พึ่งพาได้ในกรณีที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุในกระเด็นการเข้ามาแทรกแซงสื่อ

ประเด็นที่สองก็คงเป็นเรื่องราคาของกล่องแปลงสัญญาณ ราคากล่องในเคนยานั้นมีราคาสูงตั้งแต่ 3,000 KSh ขึ้นไป ในประเทศที่รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 6,145 KSh ซึ่งต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำที่วางไว้ที่ 8,000 KSh ราคาก็อาจจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกเนื่องจากความต้องการของตลาดเนื่องจากการความโกลาหลในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจจะเห็นบางร้านขายอยู่ที่ 5,000 KSh

สื่อท้องถิ่นอาจจะมีการล้อบบี้ให้ทางรัฐมารับภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนของกล่องแปลงสัญญาณเหมือนประเทศอื่นๆอย่างอเมริกา ที่ราคากล่องนั้นขายถูกลงจากรายได้การประมูลคลื่นความถี่ที่นำไปใช้ในโครงการ 4G LTE

ประเด็นที่สาม ก็คงจะเป็นคำถามที่ว่าเหตุใด StarTimes ถึงสามารถเปิดตัวในแอฟริกาได้หลายประเทศในช่วงเวลาเพียงสั้นๆได้

น่าเสียดายที่ประเด็นเหล่านี้ตกหายไปอันเป็นผลมาจากการปกป้องตัวเองเกินเหตุของเหล่าสื่อท้องถิ่น

ทีวีดิจิตอลดีกับคุณอย่างไรในฐานะผู้ชม

การออกอากาศระบบทีวีดิจิตอลนั้นหมายถึงว่าผู้ชมจะต้องซื้อทีวีเครื่องใหม่ หรือซื้อกล่องแปลงสัญญาณ (Set-top-box) กล่องแปลงสัญญาณมีหน้าที่ถอดรหัสสัญญาณทีวีที่ออกอากาศให้ทีวีเครื่องเก่าๆสามารถดูทีวีดิจิตอลได้ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับการต่อเครื่องเล่น DVD เข้ากับเครื่องทีวีนั่นแหละครับ

ทีวีดิจิตอลที่มีดิจิตอลจูนเนอร์ในตัว ปัจจุบันอาจจะมีราคาแพงแหละหลายๆครอบครัวคงยากที่จะซื้อหามาเป็นเจ้าของ ในขณะที่คุณภาพของสัญญาณทีวีอาจจะดีขึ้น และอาจจะมาพร้อมกับช่องความคมชัดสูง แต่ยังมีบางประเด็นที่เป็นข้อด้อยของระบบใหม่นี้

กล่องแปลงสัญญาณในตลาดส่วนใหญ่จะมีฟังก์ชั่นการบันทึกสัญญาณลง USB หรือเล่นหนังจาก USB ได้ หรืออาจจะดูทีวีแบบบอกรับสมาชิกอย่าง GOtv หรือ StarTimes โดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใดๆ

แต่ข้อเสียอันดับแรกคือ กล่องแปลงสัญญาณมีราคาแพง ข้อเสียที่สองคือท่านอาจจะต้องหาซื้อสายอากาศใหม่เพราะ ระบบทีวีดิจิตอลนั้นจะมีแค่ว่าดูได้หรือดูไม่ได้เท่านั้น ไม่เหมือนระบบอนาลอกที่อาจจะมีเรื่องของการชัดหรือไม่ชัดจนกว่าจะหมุนเสาอากาศไปถูกทางแล้วเจอสัญญาณชัดเจนสุด นั่นหมายถึงว่าผู้ที่อยู่ห่างไกลจากเสาสัญญาณมากๆจะหมุนเสาหาทีวีดิจิตอลได้ยากขึ้นเพราะไม่สามารถระบุได้ว่าตำแหน่งไหนชัดแล้วค่อยๆชัด

การเปลี่ยนช่องก็จะช้าลงสำหรับผู้ชม เนื่องจากมันจะต้องใช้เวลาในการแปลงสัญญาณซึ่งไม่เหมือนระบบอนาลอกแบบเดิมๆ นอกจากนี้แล้ว สภาพฝนหรือมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านอาจจะมีผลต่อการรับชมซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของกล่องรับสัญญาณของคุณ

ประเด็นสุดท้าย สัญญาณอาจจะไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ระบบทีวีอนาลอกแม้ว่าอาจจะไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของเคนยา แต่ก็ยังดีกว่าระบบการออกอากาศทีวีดิจิตอลในแง่ของการเข้าถึงเพราะในระบบทีวีดิจิตอลที่หากเลยระยะทางจุดหนึ่งไปแล้วก็ดูไม่ได้เลย เมื่อเทียบกับระบบอนาลอกที่สัญญาณยังพอดูได้แต่ค่อยๆจางๆ ลงไปเรื่อยๆจนเห็นแต่เม็ดฝน สิ่งนี้อาจจะไม่กระทบสำหรับคนอยู่ในเมือง ซึ่งประชากรในเคนยา 80% คงไม่เจอปัญหานี้ แต่อีก 20% อาจจะต้องอาศัยดาวเทียมในการดูทีวี

แต่สรุปแล้วข้อดียังมีมากกว่าข้อเสียในหลายประเด็น

จากแอดมิน : ก็ถือเป็นประเด็นน่าสนใจนะครับสำหรับประเทศในแอฟริกาที่ประชากรยังยากจน แต่ก็มีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิตอลไปแล้ว อุปสรรคต่างๆ ก็มาจากนโยบายของรัฐที่มักจะออกมาแนวมุ่งผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะสนใจความเดือดร้อนของประชาชนละครับ

ที่มา http://allafrica.com

Advertisment

Leave a comment