ล่าสุด

ทีวีดิจิตอลสมรภูมิสื่อบนภาพลวงตา

HDTV-auction

ทีวีดิจิตอลสมรภูมิสื่อบนภาพลวงตา

ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้วหลังเห็นราคาประมูลสูงลิ่วไปแตะ 50,000 ล้านบาท โดยพยายามมองหาเหตุผลว่าทำไมบริษัทต่างๆถึงแย่งประมูลคลื่นความถี่กันขนาดนั้น เพราะจากเดิมที่คาดว่าจะมีการประมูลได้ราวๆ หมื่นกว่าล้านหรือเลยราคาขั้นต่ำมาเล็กน้อยจากที่เห็นกันในตอนมีการประมูลคลื่น 3G

ความคิดส่วนตัวผมเลยมองว่าเหตุผลการแย่งประมูลกันเพราะหลายๆค่ายที่ผลิตรายการทีวีป้อนให้กับช่องอนาลอกก่อนหน้านี้รู้สึกอึดอัดที่โดนบีบคั้นเรื่องเวลา ตัวเองก็มีฝีมือในการผลิตรายการป้อนช่องเหล่านี้มานาน ถ้าได้เป็นเจ้าของช่องเองก็น่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากความสามารถของตัวเอง

ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยกับค่ายใหญ่ๆอย่าง Workpoint RS Thairath TV เป็นต้น ค่ายเหล่านี้มี content อยู่ในมือมากก็ย่อมอยากจะหาช่องทางของตัวเองในการนำเสนอเนื้อหาที่ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ชั้นนำ มีโอกาสที่จะไปรอดสูง แต่กลับไปมองช่องอื่นๆแล้วรู้สึกหนาวๆร้อนๆ ว่าจะไปรอดกันหรือเปล่า

ประมูลกันราคาสูงลิ่ว

ยกตัวอย่างช่องข่าวแล้วกันนะครับราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 220 ล้านบาท ผู้ที่ประมูลสูงสุดอยู่ที่ 1,338 ล้านบาท ต่ำสุด 1,298 ล้านบาท กรณีช่อง HD ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,510 ล้านบาท ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดคือช่อง 3 ที่ 3,530 ล้านบาท ต่ำสุดอยู่ที่ 3,320 ล้านบาท ก็ยังถือว่าประมาณแค่ 2 เท่าของราคาเริ่มต้น แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่

เห็นตัวเลขเหล่านี้ที่แย่งกันประมูลแล้วเลยมองว่า บริษัทเหล่านี้มองเห็นอะไรบางอย่างหรือเปล่า หรือว่ายังติดกับภาพเดิมๆของช่อง FreeTV 3,5,7,9,11, ThaiPBS หกช่องเดิมที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามด้วยการสร้างแบรนด์มาหลายสิบปี บางช่องก็อยู่ตั้งแต่ยุคขาวดำ ก็ปาเข้าไป 50 กว่าปีแล้ว การเกิดช่องใหม่เพิ่มขึ้นเลยอาจจะมองถึงโมเมนตั้มที่เคยเกิดกับช่องเหล่านั้นแล้ววาดภาพถึงความเจริญรุ่งเรืองของช่องทีวีดิจิตอลที่เกิดใหม่ว่าจะทาบรัศมีช่องเก่าแก่เหล่านี้ได้

ช่องทีวีเปิดตัวไม่คึกคัก

ก่อนหน้านี้ที่เราเคยมีทีวีเพียง 5 ช่อง และมีการถือกำเนิดช่อง ITV (ชื่อในขณะนั้น) ขึ้นมาใหม่นั้น โมเมนตั้มยังสูงอยู่ การเปิดทีวีช่องใหม่นี้มีการนำเสนอข่าวไปแทบทุกช่อง เพราะถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ไม่ได้พบเห็นกันมานานกับการมีช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่อง แม้จะต้องดูผ่านคลื่น UHF และชาวบ้านชาวช่องต้องไปหาแผงก้างปลามาใส่เพิ่มกันก็ดูเหมือนจะไม่เป็นประเด็นอะไรสำคัญ

แต่วันก่อนเห็นมีการเปิดตัวช่อง New)TV อย่างเป็นทางการ ก็จะเห็นผ่านสื่อออนไลน์ซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่อึกกะทึกครึกโครมเหมือนสมัยก่อน ดูข่าวการเปิดตัวช่องทีวีใหม่ๆแล้วเหมือนเป็นงานเปิดตัวบริษัทเสียมากกว่า ไม่ค่อยจะมีบทวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาคอลัมนิสต์ต่างๆ มาคาดเดาอนาคตช่องทีวีเหล่านี้เหมือนในอดีตตอน ITV เปิดบริการใหม่ๆ

อาจจะเป็นเพราะช่องทีวีดิจิตอลมีจำนวนมาก เลยไม่มีอะไรโดดเด่นน่าสนใจ ผมเองก็แทบจะไม่เคยไปเปิดดูช่องเหล่านั้นเลย เหมือนเรามีจานดาวเทียมที่มีช่องใหม่ๆเป็นร้อยๆช่อง แต่ความจริงก็ยังคงดูอยู่แต่ช่องเดิมๆ เพียงไม่กี่ช่อง

แนวโน้มช่องทางสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

ในอดีตการติดตามข่าวสารที่รวดเร็วและได้อรรภรสที่สุดก็เป็นสื่อผ่านทางเครื่องรับโทรทัศน์ เพราะผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ก็ต้องรอตีพิมพ์รอส่งถึงบ้านก็ข้ามวัน สื่อวิทยุก็ไม่เห็นภาพ แต่ปัจจุบันเรามืสื่ออิเลคทรอนิคส์ ทั้งเว็บไซท์ Youtube, Social Media, เว็บบอร์ดที่ได้รับความนิยมไม่รองไปกว่าสื่อทีวีเท่าไหร่

ประเด็นของชนิดของสื่ออาจจะยังไม่เห็นภาพมากนัก แต่หากมองถึงช่องทางการเข้าถึงสื่อแล้วเราอาจจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนจากในอดีต เมื่อก่อนต้องอาศัยคลื่นความถี่ย่านวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดินเพียงอย่างเดียวในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่ปัจจุบันเรามีช่องทางผ่านดาวเทียม ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (IPTV) รวมไปถึงระบบเครือข่ายโทรศัพท์อย่าง 3G 4G อีกด้วย

ช่องทางการรับชมที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ทำให้เกิดช่องทีวีขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งบ้านเราก็คือระบบทีวีดาวเทียมที่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาได้รับความนิยมสูง ความจริงความนิยมไม่ใช่เพราะช่องต่างๆที่มีเพิ่มมาหรอกครับ แต่เป็นเพราะชาวบ้านอยากดูฟรีทีวีชัดๆไม่ต้องมีเม็ดฝนรบกวนต่างหาก

เราจึงได้พบเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ติดตามรายการโปรดผ่านเน็ต ทั้งดูทีวีย้อนหลัง ทั้งดูเฉพาะรายการโปรดอย่าง ซีรีย์อันโด่งดังเรื่อง ฮอร์โมนเป็นต้น ที่คนรู้จักว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ถามว่าดูผ่านทางไหน ส่วนใหญ่ก็อาจจะตอบว่าดูผ่านเน็ต

ตัวอย่างด้านบนนี่แหละครับที่จะเป็นตัวบอกว่า ช่องทีวีดิจิตอลบางช่องอาจจะมีคนดูน้อย จนไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายค่าประมูลไป และน่าจะล้มหายไปในที่สุด

บทสรุป

ผมเลยตั้งหัวข้อว่าทีวีดิจิตอลที่แย่งกันประมูลครั้งนี้ น่าจะตั้งอยู่บนภาพลวงตา ว่าจะสามารถสร้างชื่อตัวเองว่าเป็นฟรีทีวีช่องหนึ่ง และคาดฝันถึงความรุ่งเรืองของทีวีอนาลอกที่เคยพบเห็น แต่มาถึงจุดนี้แล้วอาจจะคิดผิดก็ได้ เพราะความนิยมอาจจะยังกระจุกอยู่ในช่องเก่าๆ จะมีช่องใหม่ๆเพียงไม่กี่ช่องที่อาจจะเบียดแซงขึ้นมาได้ ผมก็เคยเขียนบทความไว้แล้วว่าคนอังกฤษปัจจุบันก็ยังดูช่องเดิมๆกันอยู่เหมือนเดิม แม้ผ่านมาแล้วเกือบสองปีนับจากวันที่ระบบทีวีอนาลอกได้ยุติการออกอากาศไป

ก็คงได้แต่รอดูแหละครับว่า เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะมีช่องทีวีดิจิตอลใดบ้าง ที่จะยังมาจ่ายค่าสัมปทานรายปีให้กับ กสทช. ต่อไป ถึงวันนั้นเราก็คงได้เริ่มนับจำนวนช่องที่ค่อยๆล้มหายลงไปละครับ

Advertisment

Leave a comment