ล่าสุด

ช่อง 7 ฟ้อง กสท. กรณีให้ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนาน

ช่อง 7 ฟ้อง กสท. กรณีให้ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนาน

เรื่องการออกอากาศคู่ขนานยังไม่จบง่ายๆ ล่าสุด ปปช. รับคำร้องกรณีช่อง 7 ร้องทุกข์กล่าวโทษกรรมการ กสท. สามคน กรณีอนุญาตให้ช่อง 3 อนาลอกออกอากาศคู่ขนานในระบบทีวีดิจิตอล เข้าข่ายจงใจฝ่าฝืนต่อกฏหมายและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ รับไว้พิจารณาแล้ว

โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ ปปช. มีมติรับคำร้องของบริษัทกรุงเทพวิทยุและโทรทัศน์หรือช่อง 7 ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษกรรมการ กสท. จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และพลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กรณีจงใจฝ่าฝืนต่อกฏหมายและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐไว้พิจารณาในสาระบบแล้ว

ch7-sue-3-nbtc

จากกรณีที่กรรมการ กสท. ทั้งสามคน มีมติให้บริษัท BEC Multimedia จำกัด หรือช่อง 33 HD นำผังรายการช่อง 3 อนาลอกของบริษัทบางกอกเอ็นเทอร์เทนเม้นท์จำกัด ไปออกอากาศบนช่อง 33 HD แบบคู่ขนาน 100% เช่นเดียวกับกรณีของช่อง 7 และช่อง 9 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐและ กสท. ในการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศโทรทัศน์จากระบบอนาลอกไปสู่ระบบดิจิตอล เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่ปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทีวีอนาลอกทุกราย

ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของกรรมการ กสท. ทั้งสามคนจงใจฝ่าฝืนต่อกฏหมายและเป็นการปฏิบัิตหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าธรรมเนียมการประมูลมากกว่า 3,000 ล้านบาท และยังเป็นการกระทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิตอลรายอื่นๆได้รับความเสียหายไปด้วย

เนื่องจากตาม พรบ การประกอบการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับอนุญาต จะโอนให้แก่กันมิได้ ผู้ได้รับอนุญาตฯ จะต้องประกอบกิจการด้วยตัวเอง การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่คณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนด ”
และตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 มาตรา 43 ระบุว่า “ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับอนุญาต จะโดนให้แก่กันมิได้ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการด้วยตัวเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมด หรือบางส่วน หรือยินยอมให้บุคคลอื่น เป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้ แต่การให้บุคคลอื่นเช่าเวลาดำเนินรายการ บางช่วงเวลา อาจกระทำได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่ กสทช. กำหนด”

ดังนั้นการที่ กสท. ทั้งสามคนได้อนุญาตให้ช่อง 33 HD นำผังรายการของ 3 อนาลอกไปออกอากาศแบบคู่ขนาน ต้องเป็นกรณีที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทั้งทีวีอนาลอกและดิจิตอลรายเดียวกันแบบช่อง 7 และ ช่อง 9 แต่ช่อง 3 อนาลอกและช่อง 33 HD นั้นถือว่าเป็นคนละนิติบุคคลกัน เท่ากับว่า กสท. อนุญาตให้บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์จำกัด ช่อง 3 อนาลอกซึ่งไม่มีใบอนุญาตถือครองคลื่นความถี่และประกอบกิจการในระบบดิจิตอล มาเป็นผู้ประกอบการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล โดยไม่เข้าร่วมการประมูล และชำระค่าธรรมเนียมกว่า 3,000 ล้านบาท ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

กสท. ทั้ง 3 คนจึงไม่มีอำนาจในการดังกล่าวได้ และการกระทำของกรรมการ กสท. ทั้งสามคนเป็นการขัดต่อกฏหมาย ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและผูกขาดในการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอีกด้วย ดังนั้นช่อง 7 ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำของ กสท. ทั้ง 3 คน จึงได้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อ ปปช. ให้ดำเนินคดีกับ กสท. ทั้ง 3 คน ก่อนหน้านี้

โดยความคืบหน้าล่าสุดที่ประชุม ปปช. มีมติรับสำนวนคำร้องไว้พิจารณาในสารบบแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์การยื่นต่อ ปปช. หลังจากนี้จะเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเสนอต่อ ปปช. ว่ามีมูลหรือไม่ หากไม่มีมูลก็ถือว่าคำร้องตกไป หากมีมูลจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาและตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป

ดูข่าวได้ที่ http://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/7/2014-12-04/08/ นาทีที่ 8:16

Advertisment

Leave a comment