ล่าสุด

Must Carry ไม่ควรจะบังคับใช้กับเคเบิ้ลอนาลอก

Cable TV

Cable TV

Must Carry ไม่ควรจะบังคับใช้กับเคเบิ้ลอนาลอก

ในช่วงหลังการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลเสร็จใหม่ๆ มีการพูดถึงกฏ Must Carry กันอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งก็เป็นประเด็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีผู้รับภาระในส่วนนี้ โดยกฏ Must Carry นั้นระบุว่าผู้ชมต้องสามารถรับชมฟรีทีวีผ่านได้ทุกช่องทางได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการเสริมเติมแต่ง ตัดต่อ หรือ Delay ใดๆทั้งสิ้น หรือพูดง่ายๆ ดูผ่านเสาก้างปลาได้อย่างไร การดูผ่านระบบอื่นๆก็จะต้องเหมือนกัน จำนวนช่องเท่ากัน ผู้รับชมก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกด้วย

ที่ผ่านมาเรามีฟรีทีวีระบบอนาลอกอยู่ด้วยกัน 6 ช่อง คนที่รับภาระที่ผ่านมาก็คือคนขายกล่องดาวเทียม ที่ไปลงขันกันเช่า Transponder ของดาวเทียมแล้วก็มาเรียงช่องให้กับกล่องดาวเทียมของตัวเอง เพราะถือเป็นจุดขายของกล่องดาวเทียม เนื่องจากหากชาวบ้านดูช่อง 3,5,7,9 ไม่ได้ก็คงไม่มีใครซื้อกล่องดาวเทียมนั้นๆ

แต่พอเป็นทีวีดิจิตอลขึ้นมา ในประเด็นของดาวเทียมที่มีทีวีเพิ่มเป็น 36 ช่อง (12 สาธารณะ + 24 ธุรกิจ) ปัญหาคือใครจะเป็นคนรับภาระค่าใช้จ่ายระหว่าง เจ้าของสถานีใหม่ 36 ช่อง หรือ ผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ เจ้าของกล่องดาวเทียม หรือแม้แต่ กสทช. เองที่อาจจะช่วยกันจ่าย

ณ. ตอนนี้ก็คงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า Must Carry บนระบบดาวเทียมนั้นใครเป็นคนจ่ายค่า Uplink สัญญาณ

ในส่วนของ Cable แบบ Fiber Optics นั้นก็คงไม่มีปัญหาอะไรแต่อย่างใด การเชื่อมโยงสัญญาณไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย จำนวนช่องก็เพียงพออยู่แล้วเนื่องจากเป็นระบบดิจิตอล มีกล่องแปลงสัญญาณพร้อม

แต่ปัญหาก็คงอยู่ที่ผู้ประกอบทีวีบอกรับสมาชิกในระบบเคเบิ้ลท้องถิ่นไม่ว่ารายเล็กรายใหญ่ ที่ยังคงใช้สายสัญญาณในระบบอนาลอกอยู่ เพราะข้อจำกัดของสายสัญญาณที่สามารถรองรับความถี่ได้ในช่วงแคบๆ การบรรจุช่องทีวีอาจจะทำได้เต็มที่ซัก 50 – 60 ช่อง (ตามตารางคลื่นความถี่ย่าน VHF-UHF) เนื่องจากไม่ต้องใช้ set top box เพราะทีวีสามารถจูนสัญญาณระบบอนาลอกได้เลย

เดิมใน 60 ช่องนั้นจะ Must Carry ช่องทีวีสาธารณะซัก 6 ช่อง ก็ถือว่าไม่มาก ยังเหลือช่องให้ส่งสัญญาณรายการทีวีอื่นๆให้แก่สมาชิกเพื่อหารายได้แบบสมเหตุสมผลอยู่ แต่พอมาเจอช่องทีวีดิจิตอลเข้าไป 36 ช่องที่ต้อง Must Carry และในอนาคตมีช่องทีวีชุมชนอีก 12 ช่อง รวม 48 ช่อง ก็แทบไม่เหลือช่องสัญญาณให้กับสมาชิก อันจะเป็นผลให้สมาชิกคงเลิกใช้บริการและต้องปิดตัวไปตามๆ กัน

ข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฏาคมที่ผ่านมา สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ก็ได้ยื่นหนังสือถึง คสช. ในประเด็นนี้ โดยระบุว่า อยากให้ทาง กสทช. มีการตรากฎหมายควบคุมเคเบิ้ลทีวีโดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบัน กสทช. ได้ใช้กฎหมายที่ใช้ควบคุมทีวีดิจิตอลและนำมาใช้ควบคุมกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีที่อยู่ในระบบอนาล็อกด้วย จึงควรตรากฎหมายแยกออกจากกัน

และอีกประเด็นหนึ่งก็คือขอไม่บังคับใช้กฎ Must carry 48 ช่อง กับเคเบิ้ลทีวีในระบบอนาล็อกได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีในประเทศไทยกว่า 90 เปอร์เซ็น ยังเป็นทีวีเคเบิ้ลระบบอนาล๊อก ที่เปิดช่องรายการได้เพียง 60-80 ช่อง จึงเหลืออีกเพียง 12 ช่อง ทางกสทช. ควรจะเห็นใจ เพราะกระทบต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทเคเบิ้ลทีวีเป็นอย่างมาก

ประเด็นนี้แหละครับที่ผมอยากจะออกความเห็น ในเมื่อระบบคลื่นความถี่มีการประมูลเพื่อจะนำมาใช้เป็นระบบทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน กฏ Must Carry ก็ควรจะบังคับเฉพาะระบบการรับส่งสัญญาณแบบดิจิตอลเท่านั้นเพราะเทคโนโลยีมันสามารถรองรับช่องได้เป็นจำนวนมาก

ส่วนทีวีเคเบิ้ลที่เป็นระบบอนาลอกก็ไม่ควรจะไปบังคับกฏ Must Carry กับเขา ไม่งั้นเขาก็ต้องเลิกกิจการไป เพราะ Must Carry เอาช่องทีวีที่เคยให้บริการลูกค้าอยู่เดิมไปเกินครึ่งเข้าไปแล้ว

แต่หากเขาเปลี่ยนมาเป็นระบบเคเบิ้ลที่ส่งสัญญาณในระบบดิจิตอล ซึ่งหมายถึงจะต้องมี set top box ต่างหาก (อาจจะเป็น Coaxial แบบเดิมหรืออัพเกรดเป็น Fiber Optics ก็แล้วแต่) แล้วจึงค่อยมาบังคับใช้กฏ Must Carry กับเขา

หรือถ้าให้ดีก็ยกเลิกกฏ Must Carry ไปเถอะปล่อยให้ตลาดแข่งขันกันไปเลย กล่องดาวเทียมจะเลือกเอาช่องไหนไปบ้างก็เรื่องของเขา ผู้ผลิต Content หากได้รับความนิยมกล่องเขาก็ต้องไปลงอยู่แล้ว แต่ประเด็นนี้คงทำได้ยากเพราะการประมูลทีวีดิจิตอลผ่านไปแล้ว ผู้เข้าประมูลหลายรายมองประเด็น Must Carry ว่าจะมีการรับชมทีวีดิตอลอย่างรวดเร็วเลยกล้าทุ่มเงินประมูลกันไปมหาศาล แต่อย่างน้อยขอเสนอว่า กฏ Must Carry อย่าไปบังคับระบบเคเบิ้ลอนาลอกเขาเลยครับ

Advertisment

Leave a comment