ล่าสุด

“สุภิญญา” ชง “กสท.” กำหนดวันยุติออกอากาศคู่ขนานทีวีแอนะล็อกบนช่องดิจิตอล

“สุภิญญา” ชง “กสท.” กำหนดวันยุติออกอากาศคู่ขนานทีวีแอนะล็อกบนช่องดิจิตอล

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 15/2559 วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคมนี้ มีวาระประชุมที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจขอให้ดำเนินการทบทวนมติที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 43/57 และมติที่เกี่ยวข้อง จากกรณีช่อง 33 HD ดิจิตอล ของ บ.บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ได้นำ ช่อง 3 แอนะล็อกของ บ.บางกอก เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด มาออกอากาศในเวลาเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล รวมทั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการทำบันทึกข้อตกลงคดีปกครองของบริษัทบางกอกฯยื่นฟ้อง

“ข้อสังเกตจาก สตง. เป็นเรื่องเดิมที่สำนักงานเสนอเป็นวาระเพื่อทราบ เพราะ สตง. คงเข้าใจคลาดเคลื่อนในแง่ข้อกฎหมายที่มีข้อยุติไปแล้วที่ศาลปกครองโดยไม่มีคู่กรณีใดโต้แย้ง แม้ช่วงแรกทางบีอีซีมัลติมีเดียเองไม่ยินยอมที่จะออกอากาศแบบคู่ขนานเพราะเขาต้องการคงสิทธิ์ 4 ช่องบนดาวเทียม จนในที่สุดทางเครือบีอีซีก็ได้ยินยอมเอง ส่วน กสท. ไม่ได้อนุญาตให้ช่อง 33 HD เช่าเวลาจากช่อง 3 แอนะล็อก แต่ทางบีอีซีได้ยืนยันลิขสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของคอนเทนท์หรือรายการทั้งหมดตามผังที่เสนอต่อ กสท. ซึ่งเป็นผังเดียวกับทางช่อง 3 แอนะล็อก”

ทั้งนี้ เหตุผลที่ กสท. เห็นชอบให้มีการออกอากาศในผังรายการเดียวกันได้ของ 6 ช่องแอนะล็อกทั้งหมดกับช่องดิจิตอลก็เพื่อประโยชน์การเปลี่ยนผ่านของทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินในช่วง 4 ปีแรกที่การวางโครงข่ายยังไม่ครอบคลุมร้อยละ 95 ตามแผน

สุภิญญากล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการออกอากาศแบบใช้ผังเดียวกันคู่ขนานจะทำได้ไม่ขัดกฎหมายแต่อย่างใด แต่เมื่อมีข้อสังเกตมาจากทาง สตง. จึงจะเสนอบอร์ด กสท. ให้พิจารณาเพิ่มเติม 2 ข้อ คือ
1.ขอให้ กสท. กำหนดวันเวลาสิ้นสุดของการให้ช่อง 3 และช่องแอนะล็อกทั้งหมด (5-7-9-11-ไทยพีบีเอส) ยุติการออกอากาศผังคู่ขนานในปี 2561 หลังการวางโครงข่ายภาคพื้นดินจะครอบคลุมทั่วประเทศตามแผนแล้ว ดังนั้นถ้าช่องใดจะออกอากาศแบบแอนะล็อกต่อไปหลังปี 2561 ก็ควรแยกผังรายการออกจากช่องดิจิตอล เพราะไม่มีเหตุผลใดจะอนุญาตให้ออกผังคู่ขนานไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในระยะยาว เพราะรายได้รวมจากช่องแอนะล็อกไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกำกับดูแลรายปีให้รัฐ
และข้อเสนอที่ 2 กสท. ควรกำหนดสัดส่วนการจ่ายค่าธรรมเนียมของช่องแอนะล็อกและช่องดิจิตอลให้เกิดความชัดเจนตามรายได้ที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนการเข้าถึงของคนดู (โดยนับคนดูผ่านดาวเทียมเป็นใบอนุญาตแบบดิจิตอลตามกฎ) เพราะถ้า กสท. เสียงข้างมาก ปล่อยให้ช่อง 3-7-9 กำหนดสัดส่วนรายได้ช่องแอนะล็อกเองแบบที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และจะไม่เป็นธรรมกับช่องใหม่ที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเต็มอัตรา

“ส่วนตัวจะทำบันทึกถึง สตง. ให้ตรวจสอบกรณีที่ กสทช. ละเว้นไม่กำหนดสัดส่วนการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมของช่องแอนะล็อกที่ออกคู่ขนานดิจิตอล ทำให้การจ่ายค่าธรรมเนียมเข้ารัฐต่ำกว้าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจทำให้รัฐเสียหายได้ และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับรายอื่นๆ ตามที่ตนเองเคยได้ทำความเห็นแย้งไปแล้ว” สุภิญญากล่าว

นอกจากนี้มีวาระเรื่อง การขอผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่งวดที่ 3 ของผู้รับใบอนุญาต 7 ราย วาระการออกร่างประกาศ เรื่องค่าธรรมเนียมอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. …

แหล่งข่าว
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1463288200

Advertisment

Leave a comment