ล่าสุด

ระบบสายอากาศ MATV ของคอนโด อพาร์ทเม้นกับทีวีดิจิตอล

ระบบสายอากาศ MATV ของคอนโด อพาร์ทเม้นกับทีวีดิจิตอล

apartment-building

***ระวังโดนช่างหลอก บางทีในส่วน Headend อาจจะมีฟิลเตอร์กรองสัญญาณทีวีดิจิตอลออกอยู่นะครับ ให้ช่างประจำคอนโดขึ้นไปดูว่าแผงก้างปลาที่ซี่สั้นที่สุดต่อตรงเข้ากับระบบแจกจ่ายสัญญาณหรือไม่ หากมีตัวกรองสัญญาณอยู่ให้ถอดออกแล้วต่อตรงเลยครับ*** โปรดอ่านคำอธิบายด้านล่าง

เมื่อทีวีดิจิตอลเริ่มออกอากาศได้เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว คนที่อยู่บ้านเดี่ยวหรือทาวเฮ้าส์อาคารพาณิชย์คงไม่ค่อยมีอะไรต้องกังวลเกี่ยวกับการรับชม เพราะแค่หาก่ลอง set top box แล้วก็ทดสอบด้วยเสาอากาศหนวดกุ้งดูก่อน หากดูไม่ได้ก็ลองไปซื้อสายอากาศแบบใช้ในอาคาร (Active Antenna) มาลองเพราะกล่อง set top box ที่ผ่านการรับรองจากกสทช. ทุกกล่องจะสามารถจ่ายไฟเลี้ยงให้สายอากาศประเภทนี้ได้อยู่แล้ว สุดท้ายหากลองแล้วยังดูไม่ได้ก็คงต้องตัดสินใจไปหาสายอากาศแบบก้างปลามาติดตั้งกับชายคา หรือตั้งเสาสูงจากพื้นที่ดินของตัวเองก็คงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

แต่ปัญหาคงเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ตามคอนโดหรืออพาร์ทเม้น คนที่อยู่คอนโดหรืออพาร์ทเม้นแบบระยะสั้นอาจจะตัดสินใจหาซื้อสายอากาศแบบภายในอาคารเป็นของตนเองหากว่ามันสามารถรับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้ แต่หากรับสัญญาณไม่ได้เพราะคอนโดอยู่ไกลเสาส่งมาก และคอนโดหรืออาคารชุดมีระบบ MATV อยู่แล้ว (อ่านข้อมูล MATV เบื้องต้น) การจะไปติดตั้งสายอากาศแบบก้างปลาเองบนดาดฟ้าก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะไหนจะต้องขออนุญาตจากนิติบุคคลอาคารชุด ไหนก็จะต้องลากสายยาวมาที่ห้องตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วจึงต้องไปปรึกษากับนิติบุคคลอาคารชุด ผู้ดูแลคอนโด หรืออพาร์ทเม้นให้ลงมาแก้ไขปัญหา ในลักษณะที่ว่าหากเอาทีวีมาเสียบสายสัญญาณข้างฝาก็อยากจะให้รับชมทีวีดิจิตอลได้ทุกช่องทันที

สิ่งเหล่านี้คือปัญหาของผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดอพาร์ทเม้นที่ต้องการรับชมทีวีดิจิตอล รวมถึงเป็นปัญหาปวดหัวของผู้ดูแลที่อาจจะเห็นใจผู้อาศัยที่แต่ละคนต้องการดูทีวีดิจิตอลแต่ไม่สามารถรับชมได้ จึงอาจจะกำลังมองหาหนทางในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการอัพเกรดระบบสายอากาศที่ส่งไปยังแต่ละห้อง ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง แถมบางครั้งเจอช่างที่ไม่เข้าใจระบบอย่างถ่องแท้ เสียเงินแล้วยังไม่สามารถดูทีวีดิจิตอลได้ก็มี

ทาง ThaidigitalTelevision จึงพยายามจะรวบรวมข้อแนะนำต่างๆ เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ดูแลอาคารชุด คอนโด อพาร์ทเม้น ได้พิจารณาเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินการในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อที่ทั้งผู้อาศัยและผู้ดูแลต่างก็แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลทีวี กรณีใช้ระบบ MATV

ใช่ว่าระบบกระจายสัญญาญจากสายอากาศ (MATV) ทุกที่จำเป็นจะต้องถูกเปลี่ยนเพื่อรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อุปกรณ์และเครื่องมือเก่าๆที่มีไม่ว่าจะเป็นสายอากาศ ระบบจาน ส่วนขยายสัญญาณและระบบสายสัญญาณอาจจะยังใช้การได้อยู่ ในหลายๆกรณีจะมีการอัพเกรดอุปกรณ์เพียงสองหรือสามรายการก็สามารถใช้งานรับชมทีวีดิจิตอลได้แล้ว

การทึ่จะทดสอบว่าระบบ MATV ที่มีอยู่นั้นจะสามารถกระจายสัญญาณทีวีดิจิตอลไปตามห้องต่างๆของคอนโดหรืออพาร์ทเม้นได้หรือไม่ มีวิธีการทดสอบอย่างง่ายๆ โดยการเลือกห้องในตึกมาจำนวนหนึ่งเพื่อทำการทดสอบ โดยผู้อาศัยอาจจะหาซื้อทีวีทีี่มี DVB-T2 ในตัวมาแล้วหรือหาซื้อกล่อง set top box มาแล้ว หรือจะนำอุปกรณ์ไปทดสอบการสายอากาศที่ผนังห้องเอง แล้วดูว่าที่ห้องนั้นๆ สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้หรือไม่

สิ่งสำคัญคือต้องเลือกห้องที่กระจัดกระจายไปทุกบริเวณของอาคาร ทั้งใกล้สายอากาศที่สุดและไกลสายอากาศที่สุด เพราะเป็นไปได้ที่บางครั้งสัญญาณทีวีดิจิตอลใช้งานได้ดีในบางบริเวณแต่อีกบริเวณหนึ่งใช้งานไม่ได้

การทดสอบควรจะทดสอบโดยการแสกนหาสัญญาณทีวีให้ได้ตลอดช่วงก่อน จากนั้นก็บันทึกไว้ว่ามีช่องอะไรบ้าง เมื่อไปที่แต่ละห้องแล้วก็ทดสอบว่าช่องทีวีจากแต่ละ MUX สามารถรับสัญญาณได้หรือไม่ หากต้องการความรวดเร็ว ก็สุ่มทดสอบเพียง MUX ละช่องก็เพียงพอแล้ว แต่หากมีเวลาก็ไล่ทดสอบให้ครบทุกช่องแล้วจดบันทึกตำแหน่งห้องและช่องที่ดูได้ไว้ หากทุกช่องดูได้และสุ่มห้องมาจากหลายๆบริเวณแล้วไม่มีปัญหา แสดงว่าอาคารนี้สามารถดูทีวีดิจิตอลได้จากสายสัญญาณเดิมที่มีอยู่แล้ว

เราควรสอบถามคนที่รับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้ หรือหากทดสอบเองได้ก็ตวรตรวจเช็คว่าภาพที่ปรากฏนั้นแตกหรือกระตุกบ่อยหรือไม่ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ แสดงว่าสัญญาณทีวีดิจิตอลในอาคารจากระบบสายสัญญาณนั้นอ่อน ซึ่งกรณีนี้อาจจะต้องมีการอัพเกรดระบบ MATV ที่มีอยู่

ในบางสถานที่อาจจะมีเสาส่งสัญญาณตัวใหม่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความแรงของสัญญาณในพื้นที่น้นๆ ในกรณนี้อาจจะต้องมีการติดตั้งสายอากาศเพิ่มเพื่อให้ชี้ไปยังตำแหน่งใหม่นี้ ช่างอาจจะหาข้อมูลทางเทคนิคเพื่อระบุตำแหน่งเสาส่งใหม่และทำการทดสอบให้แน่ใจก่อนจะมีการติดตั้งจริง

แต่หากพบว่าบางห้องไม่สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ หรือไม่สามารถดูได้ครบทุกช่องที่มีการออกอากาศอยู่ในขณะนั้น อาจจะต้องมีการตรวจสอบระบบสายอากาศของอาคารจากผู้ติดตั้งสายอากาศที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องระบบ MATV โดยเฉพาะ โดยทาง ThaidigitalTelevision จะได้รวบรวมรายชื่อบริษัทห้างร้านที่เชี่ยวชาญในระบบสายอากาศ MATV ในโอกาสต่อไป

หากต้องมีการ upgrade ระบบ MATV จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

แน่นอนว่าการปรับปรุงระบบ MATV ในอาคารเพื่อให้รับชมทีวีดิจิตอลได้นั้นย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ดังนั้นก่อนการดำเนินการใดๆ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาคารของท่านจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงระบบ MATV ในระดับไหน อาจจะต้องให้หลายๆบริษัทเสนอราคามาเพื่อการเปรียบเทียบ และแสดงเหตุผลที่เหมาะสมว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนนั้นๆ อย่าลืมว่าช่างส่วนใหญ่อยากจะขายสินค้าของตัวเองให้มากที่สุดจึงอาจจะขอเปลี่ยนอุปกรณ์ในระบบ MATV ใหม่หมด จึงควรจะตรวจสอบจากหลายๆทางก่อนที่จะตัดสินใจตามที่ผู้รับเหมาต้องการ

่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการปรับปรุงระบบ MATV ในอาคารของท่านอาจจะมีในประเด็นต่างๆดังนี้

– การเปลี่ยนแผงก้างปลาบนดาดฟ้าของอาคาร เพื่อให้มีทิศทางสอดคล้องกับเสาส่งใหม่สำหรับบางช่อง แต่ส่วนใหญ่แล้วหากทีวีระบบอนาลอกเดิมรับสัญญาณ ThaiPBS เดิมได้อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ยกเว้นตำแหน่งของอาคารของท่านอยู่ในบริเวณที่สุญญาณตกวูบพอดี
– การจัดหาจานดาวเทียม ในกรณีที่ต้องมีการรับชมระบบดาวเทียมควบคู่ไปด้วยหรือในพื้นที่ห่างไหลที่ต้องรับชมผ่านจานดาวเทียมเท่านั้น
– การเดินสายสัญญาณใหม่ หากสายอากาศในอาคารของท่านชำรุดมากแล้ว
– การซื้อตัวขยายสัญญาณและ Multi-switch และตัวประมวลผลช่องสัญญาณใหม่
– ค่าแรงที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและติดตั้งระบบ MATV

การออกแบบระบบ MATV ใหม่หมดให้กับอาคารของท่านเพื่อให้รับชมทีวีดิจิตอลได้นั้นควรจะมีการนำข้อมูลระบบเก่าของทั้งเสียงและภาพเข้ามาคิดคำนึงด้วย เช่นหากเดิมสายอากาศสามารถรับสัญญาณได้เฉพาะช่วง UHF อย่างเดียว ก็อาจจำเป็นที่จะต้องให้สามารถรองรับสัญญาณที่ความถี่ต่ำลง ก็อาจจะต้องมีการซื้อหาแผงก้างปลามาเพิ่ม หาซื้อระบบขยายสัญญาณเพิ่ม หรืออาจจะต้องมีการเพิ่มโมดูลหรือตัวกรองสัญญาณเพิ่มเติม

หากเป็นช่วงที่มีการออกอากาศสองระบบคือดิจิตอลและอนาลอกไปพร้อมๆกัน ผู้พักอาศัยอาจจะต้องกาดูทีวีทั้งสองระบบอยู่ การอัพเกรด MATV ให้รองรับทีวีดิจิตอลอย่างเดียวอาจจะทำให้รับชมทีวีแบบอนาลอกไม่ได้ ผู้ดูแลอาคารอาจจะต้องแจ้งให้ผู้อยู่อาศัยทราบถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการรับชมทีวี และคนที่อาจจะได้รับผลกระทบ

ข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาณทีวีระบบดิจิตอล

บางครั้งผู้ดูแลอาคารอาจจะมีคำถามว่าทำไมบางห้องดูได้ แต่บางห้องดูไม่ได้เลยซักช่อง ข้อมูลเบื้องต้นต่อไปนี้อาจจะเป็นคำตอบบางส่วนให้ท่านได้ สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับสัญญาณทีวีดิจิตอลคือ

The Digital Cliff หรือรูปแบบสัญญาณแบบหน้าผา

จุดเด่นอันหนึ่งของทีวีระบบดิจิตอลคือ มันสามารถขจัดสัญญาณรบกวนออกไปได้ ทำให้ได้ภาพที่คมชัด ถึงจุดหนึ่งที่สัญญาณรบกวนมีมากเกินไปเนื่องจากสัญญาณอ่อน หรือการรบกวนจากอย่างอื่น ก็จะถึงจุดที่ระบบการกำจัดสัญญาณรบกวนไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป

นั่นหมายถึงว่าไม่เหมือนระบบทีวีอนาลอกที่สัญญาณการรับชมทีวีจะค่อยๆหายไปตามระยะทาง แต่การรับชมทีวีดิจิตอลถึงจุดหนึ่งก็จะไม่สามารถรับชมได้เลย ไม่มีคำว่าเห็นภาพจางๆ จะมีเพียงดูได้กับดูไม่ได้แค่นั้น

พฤติกรรมของสัญญาณในลักษณะนี้เราเรียกว่าหน้าผาของสัญญาณหรือ Digital Cliff เมื่อสัญญาณเริ่มเข้าใกล้หน้าผา เสียงก็จะแตก ภาพก็จะแตกออกเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ และเมื่อสัญญาณอยู่ในภาวะเลวร้ายลง ภาพก็อาจจะหยุดนิ่ง แล้วหายไป แล้วอาจจะมีการแสดงคำว่า ไม่มีสัญญาณ หรือ สัญญาณอ่อนออกมา

The-digital-cliff

ภาพด้านบนจึงสื่อความหมายว่า การออกแบบหรืออัพเกรดระบบสายอากาศ MATV นั้นผู้ออกแบบอาจจำเป็นต้องรับรู้ถึงคุณภาพของสัญญาณและช่วงสัญญาณที่ยอมรับได้ หากการรับชมส่วนใหญ่ทำได้ดี แต่มีบางครั้งสัญญาณภาพแตก ก็แสดงว่าสัญญาณเข้าใกล้หน้าผาแล้ว

พื้นที่ๆเคยรับสัญญาณทีวีอนาลอกแบบมีเม็ดฝนมาก ภาพไม่ค่อยชัด อาจจะหมายถึงว่าจะไม่สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้เลย อาจจะต้องมีการติดตั้งเสาส่งเสริมจากผู้ให้บริการโครงข่าย จึงต้องมีการเพิ่มแผงก้างปลาเพื่อให้ชี้ไปยังจุดใหม่นั้น ในบางพื้นที่จึงอาจจะต้องมีทั้งการเปลี่ยนแผงก้างปลาที่ยาวขึ้นหรือติตตั้งตัวขยายสัญญาณเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนประกอบชองระบบ MATV เบื้องต้น

ระบบ MATV โดยทั่วๆไปแล้วจะมีลักษณะดังภาพ โดยในบางพื้นที่อาจจะมีระบบจานดาวเทียมหรือระบบเคเบิ้ลเข้าไปร่วมอยู่ด้วย

MDU-MATV-system
จากภาพ Headend หรือส่วนหัวคือระบบที่ใช้อธิบายถึงอุปกรณ์ที่จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณเข้าสู่ระบบสายเคเบิ้ลก่อนส่งกระจายไปตามห้องต่างๆต่อไป ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอุปกรณ์ขยายสัญญาณในกรณีต่างๆเช่น Wideband amplifiers, Channelised appliiers, Trans modulation headends, Channel processing headends และ PAL remodulatores เป็นต้น

Splitter คือตัวแยกสัญญาณเพื่อกระจายไปยังจุดหลักๆของระบบกระจายสัญญาณไปตามห้องหรือ Distribution Tap อีกที ส่วน Outlet คือช่องเสียบสัญญาณบริเวณผนังห้องเพื่อต่อกับ set top box หรือ TV ทีมี DVB-T2 จูนเนอร์ในตัว

ทั้งนี้สัญญาณที่ช่องเสียบผนังต่ำสุดควรจะอยู่ที่ประมาณ 45 dBuV สูงสุดที่ 80dBuV ช่วงที่เหมาะสมที่สุดจะอยู่ที่ 60 – 70 dBuV

สำหรับรายละเอียดทางด้านเทคนิคต่างๆจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

คอนโดหรืออพาร์ทเม้นท์อาจจะดูช่องทีวีดิจิตอลได้อยู่แล้ว

เพียงแต่มีข้อติดขัดเล็กน้อยในอดีตเลยทำให้ดูทีวีดิจิตอลตามห้องไม่ได้ แต่หากผู้อาศัยดูช่อง ThaiPBS ได้ซึ่งมีการส่งสัญญาณในช่วง UHF ก็แสดงว่าอาจจะมีตัวกรองสัญญาณดักอยู่

หากท่านดูแลหรือเป็นเจ้าของอาคารพักอาศัยรวม อาจจะเคยจำได้ว่าในอดีตตอนที่มีการเปลี่ยนความถี่ใหม่ของช่อง 3 ไปอยู่ในย่านความถี่ UHF อาจจะเคยตามช่างมาติดตั้งแผงก้างปลาเพิ่มและอาจจะมีการเปลี่ยนกล่องรวมและแยกสัญญาณจากแผงต่างๆใหม่ อาจจะมีการแยกสัญญาณระหว่างทีวีอนาลอก กับระบบ MMDS โดยจะมีตัวแบ่งสัญญาณให้รับช่องความถี่ UHF ได้ไม่เกินช่อง 30 โดยให้ความถี่สูงกว่านี้เป็นระบบ MDDS การส่งผ่านของสัญญาณทีวีดิจิตอลจากสายอากาศเลยไปไม่ถึงห้องต่างๆ

ดังนั้นให้ลองสังเกตดูว่าจากแผงก้างปลาที่มีซี่สั้นๆ (UHF) นั้นก่อนเข้าตัวกระจายสัญญาณไปตามห้องต่างๆ มีกล่อง Filter หรือตัวกรองสัญญาณดักไว้อยู่หรือไม่ หากมีให้ลองเอากล่องนี้ออกโดยการต่อสายตรงจากแผงสายอากาศนี้ไปยังตัวกระจายสัญญาณโดยตรงเลย แล้วลองไปปรับจูนหาช่องทีวีดิจิตอลใหม่ดูว่ารับชมได้ครบทุกช่องหรือไม่

ตัวอย่างข้างต้นอาจจะเป็นสิ่งที่ท่านจะถูกช่างสายอากาศเรียกรับค่าจ้างราคาแพง หรือต้องซื้อของต่างๆเพิ่มโดยไม่จำเป็นก็ได้

Advertisment

Leave a comment