ล่าสุด

วิบากกรรมการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลในอังกฤษ

digitalUkMap

วิบากกรรมการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลในอังกฤษ

หากกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลแล้ว ตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านอันหนึ่งที่สมควรเรียนรู้ไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษาก็คงจะหนีไม่พ้น รายงานการศึกษาของ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Digital TV in Thailand ที่ได้มีการอ้างอิงกันอยู่ในแวดวงข่าวสารด้านทีวีดิจิตอล รวมทั้งแหล่งข้อมูลอื่นๆที่พอจะอ้างอิงได้ เรามาดูกันนะครับว่าวิบากกรรมการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลในอังกฤษที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร

ประเทศอังกฤษนั้นถือว่าเป็นต้นแบบที่มีความแข็งแกร่งในแง่ของสื่อสารมวลชนประเทศหนึ่ง เราอาจจะได้ยินชื่อช่องข่าวดังอย่าง CNN ของอเมริกา หรือ BBC ของอังกฤษ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็ตรงที่ว่า BBC ไม่ใช่แค่ช่องข่าว แต่เป็นองค์กรผลิตรายการคุณภาพระดับโลก พร้อมกับการทำหน้าที่ๆไม่ต้องเกรงอกเกรงใจใคร ไม่ต้องกลัวนักการเมือง ไม่ต้องห่วงว่าเสนอข่าวไปกระทบยักษ์ธุรกิจแล้วโฆษณาจะไม่มีมาลง ถือได้ว่าเป็นสื่อที่เป็นกลางมากที่สุดในโลกเจ้าหนึ่ง

เหตุผลที่ทำแบบนั้นได้เพราะ BBC ไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาล ไม่ได้มีรายรับจากการโฆษณา จึงไม่ต้องเกรงใจรัฐบาลหรือธุรกิจยักษ์ใหญ่ใดๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าแล้ว BBC เอารายได้มาจากไหน ตอบแบบสั้นๆแล้วก็คือคนอังกฤษเองช่วยกันจ่าย รูปแบบการจ่ายก็คือทุกปี ประชากรของอังกฤษที่มีเครื่องรับทีวีที่บ้านจะต้องไปจ่ายค่าธรรมเนียมการดูทีวี (TV License) ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ที่ 145 ปอนด์ต่อปี หรือราว 4500 บาท โดยรัฐบาลจะจ่ายให้ส่วนหนึ่งในนามของผู้มีรายได้น้อย การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการดูทีวีนั้นถือเสมือนเป็นภาษีชนิดหนึ่งที่ต้องจ่าย หากใครไม่จ่ายก็จะต้องเสียค่าปรับมหาโหด จะมีรถลาดตะเวณตรวจจับผู้ที่หลีกเลี่ยงด้วย

กลับมาสู่เรื่องการเปลี่ยนผ่านทีวีดีจิตอลในอังกฤษกันต่อนะครับ ความวุ่นวายเริ่มต้นขึ้นในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลประมาณปี 1998 ถึงปี 2002 อันเนื่องมาจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ของอังกฤษ (Independent Television Commission – ITC) เกิดภาวะเกรงการผูกขาดข้ามสื่อของกลุ่ม News Corp ที่เป็นเจ้าของสื่อหนังสือพิมพ์ของเจ้าพ่อสื่อระดับโลกที่ชื่อ รูเพิร์ด เมอร์ด็อด ซึ่งหากใครอยู่อังกฤษในช่วงนั้นจะเห็นการกล่าวถึงชื่อของคนๆนี้ในสื่อบ่อยมาก เหมือนตอนต้มยำกุ้งบ้านเราที่เราจะได้ยินชื่อ โซรอส จนคุ้นหูนั่นแหละครับ

ความกลัวดังกล่าวทำให้ รูเพิร์ด เมอร์ด็อค ถูกเชิญให้ถอนตัวออกจากการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลในช่วงต้นๆ ของกระบวนการ

โดยในช่วงต้นทาง ITC ออกแบบ MUX ของโครงข่ายการกระจายสัญญาณทีวีดิจิตอลไว้ 6 โครงข่าย โดยครึ่งหนึ่งจัดสรรให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่เดิมนั่นคือ BBC , ITV + Channel4 (D3&4) และ Channel 5 (ช่องทีวีที่เพิ่งเกิดใหม่) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะไว้ประมูลกันทีหลัง อาจจะเมื่อการเปลี่ยนผ่านช่องทีวีหลักๆเป็นทีวีดิจิตอลแล้ว

สำหรับผู้ผลิตเนื้อหารายการ (Content) ทาง ITC ก็ได้เชิญชวนผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่ผลิตรายการป้อนให้กับ ITV Channel4 อย่าง Carlton Television, Granada TV และ BSkyB ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของเมอร์ด็อคที่ได้รับความนิยมสูงมานาน แต่ต่อมา BSkyB ก็ถูกขอให้ถอนตัวเพราะทาง ITC เกรงว่าจะเป็นการผูกขาดสื่อเพราะตอนนั้น BSkyB มีช่องทีวีดาวเทียมมากถึง 140 ช่อง หากให้มีการดำเนินการทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินด้วยแล้วเกรงว่าจะผูกขาดสื่อทุกชนิดไม่ว่าสิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวีภาคพื้นดิน ทีวีดาวเทียม อันอาจจะเกิดปัญหาที่จะแก้ไขได้ยากในอนาคต

tvdigital-2

ผลที่ได้ก็คือเกิดสงครามระบบที่ต่างกันหรือ Platform ระหว่าง BSkyB ที่อยู่บนระบบดาวเทียมซึ่งเป็นแนว Pay TV กับกลุ่มของ Carlton และ Granada ที่เพิ่งจะเริ่มออกอากาศในระบบทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินในชื่อของ ONdigital ที่เริ่มต้นด้วยจำนวนช่องเพียง 18 ช่อง

และเพื่อดึงดูดคนดูให้อยู่กับระบบของตัวเองทางกลุ่ม ONdigital (ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ITV) ก็เริ่มแย่งชิงลิขสิทธิ์รายการกีฬาการแข่งขันฟุตบอลกัน เหมือนกับที่เกิดในไทยกรณีลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่มีการแย่งการประมูลกันสูงลิ่ว ผลคือทางกลุ่ม ITV แพ้การเสนอราคาของรายการ พรีเมียร์ลีก เป็นระยะเวลา 5 ปี อันเป็นลิขสิทธิ์รายการที่ถือว่ามีค่าสูงสุดควรแก่การยึดครองเอาไว้ โดยทางกลุ่มเมอร์ด็อคเสนอราคาสูงมากถึง 304 ล้านปอนด์สำหรับการถ่ายทอดสดทุกรายการ

ทาง ITV ก็เลยต้องหันไปสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลในรายการที่มีความสำคัญรองๆลงไป ถือว่าแพ้ไปในเกมส์ใหญ่อันหนึ่ง

นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีทีวีดิจิตอลในช่วงนั้นยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก การรับชมถูกรบกวนได้ง่ายจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เกิดอาการจอดับบ่อย กล่องรับสัญญาณ set top box ก็หาซื้อได้ยาก ระบบการดูแลหลังการขายก็ย่ำแย่ และอีกหลายๆ ประเด็น ทำให้ผู้ชมรู้สึกผิดหวังกับการรับชมทีวีดิจิตอลมาก แถมรายการเด็ดๆก็สู้ BSkyB ไม่ได้เพราะมีช่องให้เลือกมากมาย และที่สำคัญพรีเมียร์ลีกก็อยู่กับ BSkyB ด้วย

ที่สำคัญ BSkyB กะชนทีวีดิจิตอลอย่างจังด้วยการทุ่มทุนแจกกล่องรับสัญญาณไปมากกว่า 1 ล้านกล่องแลกกับการผูกสัญญาสมาชิกเอาไว้ ประเด็นนี้ส่งผลสะเทือนกับการจำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลของ ITV เป็นอย่างมาก โดยในปี 2000 BSkyB ยังได้พัฒนาระบบการออกอากาศเป็นแบบ Interactive ได้เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย จนปี 2003 ทาง BSkyB มีสมาชิกถึง 7 ล้านบัญชี ในปี 2006 BSkyB ก็ได้เริ่มออกอากาศทีวีความคมชัดสูง (HD) และในปี 2010 ก็ได้มีการอกอากาศในระบบ 3D จนทำให้มียอดสมาชิกเพิ่มเป็นกว่า 10 ล้านบัญชี

การพัฒนาของ BSkyB นั้นสามารถเอาชนะทีวีดิจิตอลของ ITV ได้อย่างสมบูรณ์จนถึงขั้นทาง ITV ต้องประกาศยุติการดำเนินธุรกิจในปี 2002 ด้วยผลการขาดทุนยับเยิน และสมาชิกกว่า 1.2 ล้านครัวเรือนต้องเกิดสภาวะจอดับ นับเป็นบทเรียนอันแสนเจ็บปวดเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายทาง OFCOM หน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภคทางด้านระบบโทรคมนาคมต้องตัดสินใจดึง BBC ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับความเชื่อถือสูงเข้ามากเป็นผู้นำในการดำเนินการผลักดันทีวีดิจิตอลอีกรอบ โดยมีการเพิ่ม MUX ใหม่อีก 3 โครงข่าย แล้วก็เชิญทางกลุ่มเมอร์ด๊อคเข้ามาร่วมในโครงการทีวีดิจิตอลบางส่วน และทาง BBC เป็นโต้โผในการรวมเทคโนโลยีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจากทุกค่ายให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ และใช้ชื่อใหม่ว่า FREEVIEW ซึ่งหลังจากนั้นทุกอย่างก็ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นจนสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์ โดยปิดระบบอนาลอกตัวสุดท้ายไปเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2012 หรือราวปีครึ่งที่ผ่านมานี่เอง

บทเรียนของการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลในอังกฤษนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษามาก ถึงกระบวนการในการดำเนินการที่ บางครั้งหากยึดในหลักการมากเกินไปอาจจะทำให้ล้มเหลวได้ ปัจจุบันไทยเรามีคนดูทีวีผ่านระบบดาวเทียมเกิน 60% เข้าไปแล้ว ด้วยเพราะแต่ละค่ายสื่อต่างไปหา content ดีๆ แล้วจำหน่ายกล่องของตัวเองเพื่อหารายได้ในเชิงธุรกิจ การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลในบ้านเราหากไม่มองรอบด้านอาจจะเกิดภาวะเกิดได้ยากก็เป็นได้

ปัญหาที่เริ่มพบเห็นแล้วก็คือ ถึงกำหนดออกอากาศอย่างเป็นทางการแล้ว MUX บ้านเรายังไม่เสถียร บางท้องถิ่นก็ยังไปไม่ครบทุก MUX จะด้วยปัญหาจัดซื้อจัดจ้างหรืออะไรก็แล้วแต่ หวังว่าการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลในบ้านเราคงไม่เจอฝันร้ายแบบในประเทศอังกฤษหรอกนะครับ

Advertisment

Leave a comment