นักวิชาการติงกสทชควรแจกคูปองเฉพาะภาคพื้นดินเท่านั้น

นักวิชาการติงกสทชควรแจกคูปองทีวีดิจิตอลเฉพาะภาคพื้นดินเท่านั้น
และควรตั้งค่าคูปองลดลงตามจำนวนกล่องที่เพิ่มขึ้นในตลาด และให้กับครัวเรือนที่ร้องขอเท่านั้น
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ออกโรงเตือน กสทช. แจกคูปองทีวีดิจิตอลมูลค่าสองหมื่นล้านอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย แนะให้ตัวอย่างการแจกคูปองทีวีดิจิตอลในต่างประเทศ พร้อมเสนอข้อคิดเห็นว่าควรแจกคูปองเฉพาะครัวเรือนที่มีความต้องการและติดขอรับมาเท่านั้น และควรแจกคูปองสำหรับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลสำหรับภาคพื้นดินเท่านั้น และควรกำหนดราคาคูปองให้เหมาะสมกับภาวะตลาดด้วย
จากการที่ช่วงนี้ประเด็นของการแจกคูปองเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างถึงหลักการการแจกจ่าย และมูลค่าของคูปอง รวมถึงครัวเรือนที่จะแจก ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ออกมาให้ความคิดเห็นว่า แนวทางในการที่จะมีการแจกคูปองสำหรับการนำไปแลกซื้ออุปกรณ์เพื่อการรับชมทีวีดิจิตอลหรือ set top box ของ กสทช. นั้นทำให้เกิดคำถามหลายประเด็น พร้อมยกตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติของหลายๆประเทศซึ่งน่าจะมีมีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
ดร. สมเกียรติ กล่าวว่าจากผลการประมูลคลื่นความถี่ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่มีรายได้จากการประมูลมากกว่าที่ประเมิณไว้หลายเท่าตัว ทาง กสทช. จึงมีนโยบายที่จะปรับเพิ่มมูลค่าของคูปองสำหรับที่จะแจกจ่ายให้กับครัวเรือนต่างๆ นำไปแลกซื้ออุปกรณ์กล่องรับสัญญาณหรือ set top box จากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่มูลค่า 690 บาทต่อใบมาเป็น 1,000 ถึง 1,200 บาทต่อใบนั้น มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของคูปองอาจจะทำให้ทาง กสทช. ต้องจ่ายเงินไปกว่า 20,000 ล้านบาท
แม้โดยหลักการแล้วทาง กสทช. เองก็มีหน้าที่ผลักดันให้ประชาชนสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ แต่แนวคิดการแจกคูปองในช่วงที่ผ่านมาของ กสทช. ทำให้เกิดคำถามใน 4 ประเด็นด้วยกันนั่นคือ
ประเด็นแรก ควรจะแจกคูปองให้กับทุกครัวเรือนหรือไม่ โดยทาง ดร.สมเกียรติเห็นว่าการแจกจ่ายทั้ง 22 ล้านครัวเรือนนั้นอาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เพราะบางครัวเรือนอาจจะไม่ได้ต้องการคูปองที่ทาง กสทช. แจกให้เพราะสามารถรับชมทีวีดิจิตอลอยู่แล้วด้วยวิธีอื่น เช่น ผ่านทางกล่องดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี เป็นต้น
ประเด็นที่สอง ควรแจกคูปองสำหรับการซื้อกล่องเคเบิ้ลทีวีและกล่องดาวเทียมหรือไม่ เพราะหากทาง กสทช. ตัดสินใจให้มีการแจกกับกลุ่มนี้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องของทีวีชุมชนที่จะมีขึ้นในอนาคต เพราะใครจะรับรองได้ว่าทีวีดาวเทียมจะมีการถ่ายทอดช่องบริการชุมชน
ประเด็นที่สาม มูลค่าของคูปองที่กำหนดใหม่นั้นสูงเกินไปหรือไม่ ในกรณีนี้ ดร. สมเกียรติขี้ว่าในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา นั้นพบว่าเมื่อมีการกำหนดมูลค่าคูปองไว้สูง ราคากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลก็จะสูงตามไปด้วย โดยผลจากการศึกษาพบว่า ร้านค้าที่รับคูปองจะขายกล่องในราคาที่สูงกว่าร้านค้าที่ไม่ได้รับคูปอง ทั้งๆที่เป็นรุ่นใกล้เคียงกัน ซึ่งการแจกคูปองที่มึมูลค่าสูงจะเป็นตัวผลักดันให้ราคากล่องในท้องตลาดสูงกว่าความเป็นจริง ผลประโยชน์ในส่วนนี้จึงไปตกอยู่กับผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าไม่ใช่ผู้บริโภคที่ได้รับแจกคูปอง
ประเด็นสุดท้ายคือ การกำหนดมูลค่าของคูปองให้คงทีตลอดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล (ประมาณ 4 ปี)นั้นอาจจะไม่เหมาะสม ซึ่งประธานทีดีอาร์ไอระบุว่า ตามหลักการตลาดราคาต้นทุนกล่องจะลดลงประมาณครึ่งนึงเมื่อมีการผลิตสินค้าเพิ่มขี้นเป็น 2 เท่านั้น การกำหนดมูลค่าคูปองคงที่ในขณะที่ราคากล่องทีวีดิจิตอลลดลงตามกลไกตลาด จึงเท่ากับว่าใช้จ่ายเงินออกไปโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ดร. สมเกียรติ ยังยกตัวอย่างประเทศต่างๆ ว่าการแจกคูปองที่สนับสนุนทั้งราคากล่อง สายอากาศ และค่าติดตั้ง จะให้เฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่ตกงาน ตามนโยบายของประเทศนั้นๆเท่านั้น
อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนเฉพาะทีวีภาคพื้นดิน ไม่ได้ให้การสนับสนุนการแจกคูปองสำหรับกล่องดาวเทียมหรือเคเบิ้ล แต่จะสนับสนุนในกรณีที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถรับสัญญาณทีวีภาคพื้นดินได้เท่านั้น
ประธาน TDRI ได้เสนอว่า กสทช. ควรจะแจกคูปองให้กับครัวเรือนที่ติดต่อขอรับคูปองแทนการแจกให้กับทุกครัวเรือน ควรสนับสนุนคูปองเฉพาะกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน และควรกำหนดราคาคูปองให้เหมาะสม ซึ่งดร. สมเกียรติกล่าวว่าจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก และยังเป็นการส่งเสริมให้มีการรับชมทีวีดิจิตอลได้อย่างแพร่หลายไม่แตกต่างจากวิธีที่ กสทช. กำลังจะดำเนินการอยู่ในขณะนี้
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.