ล่าสุด

กสทช. ห่วงผู้ประกอบการเล่นตุกติกรับซื้อคูปองไม่จ่ายกล่อง

coupon-closed-up

กสทช. ห่วงผู้ประกอบการเล่นตุกติกรับซื้อคูปองไม่จ่ายกล่อง

เม็ดเงินแตะหมื่นล้านกำลังจะกระจายไปทั่วประเทศไทยสำหรับโครงการที่ กสทช. แจกคูปองทีวีดิจิตอลเพื่อเป็นส่วนช่วยเหลือประชาชนในการเปลี่ยนผ่านจากทีวีในระบบอนาลอกสู่ดิจิตอล ปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการทุจริตอย่างเป็นระบบจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคูปอง ตามที่คุณทนงศักดิ์ สุขะนินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานขับเคลื่อนโทรทัศน์เคลื่อนที่ และโทรทัศน์ระบบไอพี (พส.) สำนักงาน กสทช. ได้ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวไว้

ระบบการนำคูปองไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอลนั้น อาจจะเป็นไปได้ว่าชาวบ้านบางคนไม่จำเป็นต้องใช้กล่อง set top box ที่ใช้กับเสาอากาศก้างปลา เนื่องจากทีวีที่ใช้ดูอยู่นั้นเป็นรุ่นเก่าไม่รองรับระบบ HD และที่สำคัญมีกล่องดาวเทียมอยู่แล้วทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กล่อง DVB-T2 แต่ก็ได้รับคูปองมูลค่า 690 บาทมาด้วย

ข่าวบริษัทหัวใสรับซื้อคูปองที่ราคา 300 – 500 บาทจึงเริ่มออกมาประปรายสำหรับประชาชนในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดที่ข้อมูลอาจจะถูกบิดเบือนโดยผู้นำชุมชนตามที่เราเคยเห็นข่าวเรื่องใบปลิวกันก่อนหน้านี้มาแล้ว

ถามว่าประเด็นนี้ กสทช. ทราบหรือไม่และมีแนวทางป้องกันอย่างไรบ้าง ก็คาดว่าทาง กสทช. คงจะทราบดีถึงแนวทางในการทุจริตและพยายามหาทางป้องกัน โดยมาตรการในการป้องกันนั้นก็ผ่านระบบสติกเกอร์ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้คือ

– บนคูปองที่แจกให้กับประชาชนนั้นจะมีสติกเกอร์เฉพาะสำหรับไว้ให้บริษัทขึ้นเงิน โดยสติกเกอร์เหล่านี้มาจาก กสทช.
– บนกล่อง set top box ของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการคูปองจะมีสติกเกอร์ต่างหาก แยกจากสติกเกอร์น้องดูดีที่บอกว่ากล่องนี้ได้มาตรฐาน กสทช. สติกเกอร์เหล่านี้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องสั่งซื้อจาก กสทช. โดยตรง

วิธีการในการขึ้นเงินของ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ
– ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารเจ้าของคูปอง
– เก็บสติกเกอร์จากคูปองที่ประชาชนนำมาแลกเอาไว้
– เมื่อเจ้าของคูปองเลือกกล่อง set top box หรือ DTV ที่ต้องการแล้ว ก็นำเอาสติกเกอร์ที่มากับ set top box แปะคู่กับสติกเกอร์ที่มาจากคูปอง เพื่อผ่านระบบการขึ้นเงินต่อไป

จะเห็นได้ว่ามาตรการเหมือนจะดูดีว่า ถ้ามีคูปองมาชาวบ้านก็จะได้กล่อง set top box กลับบ้านแน่ๆ เพราะต้องมีสติกเกอร์ทั้งจากคูปองและจากกล่องถึงจะขึ้นได้

แต่ช่องโหว่ของการทุจริตนั้นยังมีอยู่ ซึ่งสามารถเกิดได้หลายทาง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. ลูกจ้างของบริษัทห้างร้านเหล่านั้นอาจจะเสนอเงินสดจำนวนหนึ่งให้กับประชาชนที่มาแลกกล่อง แลกกับเงื่อนไขที่ไม่ต้องเอากล่องกลับไป เช่นเสนอให้ 300 บาท แล้วบริษัทเอากล่องมาขายในราคามือสองที่ 400 – 500 บาท ให้สำหรับคนที่ต้องการกล่องเพิ่มในราคาถูกเพราะทีวีที่บ้านมีหลายเครื่องเป็นต้น หรือเก็บกล่องไว้ดำเนินการตามวิธีการด้านล่าง

2. บริษัททำเป็นกระบวนการ โดยการสั่งซื้อสติกเกอร์จาก กสทช. แต่ไม่มีกล่อง set top box อยู่จริง หรือสั่งเกินกว่าจำนวนกล่องที่วางขายจริง แถมได้ตราครุฑรับรองกล่องว่าเป็นไปตามมาตรฐานกสทช. ไปติดกล่องปลอมต้นทุนต่ำได้อีก

โดยกระบวนการที่สองนั้นจะมีวิธีการดำเนินการคือ พอประชาชนนำคูปองมาขึ้นเงิน บริษัทก็จ่ายเงินสดให้กับเจ้าของคูปองไปเช่น 400 บริษัทก็เอาสติกเกอร์สำหรับกล่อง (ที่ไม่มีกล่องจริง) แปะคู่กันไปแล้วไปขึ้นเงิน 690 บาท ได้กำไรเกือบ 300 บาท โดยไม่ต้องมีต้นทุนกล่อง จ่ายแค่ค่าสติกเกอร์ กสทช. เท่านั้น

อีกกรณีหนึ่งก็คือเป็นลูกผสมจากข้อ 1 คือ ประชาชนรายก่อนหน้านี้ แลกคูปองตามวิธีการทุกประการ แต่ขายกล่องคืนให้บริษัทราคาถูก บริษัทก็ใช้วิธีการตามข้อสองต่อทำให้ชาวบ้านรายใหม่นี้ได้กล่องไปจริง ไม่ได้รับเงินสด แต่กลายเป็นกล่องที่ไม่ตรงกับระบบสติกเกอร์ของตัวเอง วิธีนี้จะแนบเนียนมาก บริษัทเสียเงินค่ารับซื้อกล่องคืน 300 บาท บวกค่าสติกเกอร์เปล่าๆ (ไม่มีกล่อง)อีกไม่กี่บาท แต่ขึ้นเงินได้ 690 บาท

ฟังดูแล้วอาจจะซับซ้อน ที่เพื่อประโยชน์ทางการค้าแล้วละก็ บริษัทห้างร้านที่ไม่ซื่อสัตย์อาจจะดำเนินการด้วยวิธีการเหล่านี้ได้และยากที่จะป้องกัน การสุ่มตรวจก็ย่อมทำได้ยากเพราะการแลกคูปองเกิดขึ้นทั่วประเทศ ยิ่งหากเกิดการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างเจ้าของคูปองกับบริษัทห้างร้านแล้วละก็จะยิ่งยากที่จะจับได้

วิธีการหนึ่งที่ทาง กสทช. จะทำได้ก็คงเป็นการรณรงค์ให้ภาคประชาชนจับตากระบวนการแลกคูปอง หากพบเห็นให้มีการแจ้งมายัง กสทช. และถ้าให้ดีควรตั้งรางวัลนำจับให้กับพลเมืองดีด้วย โดยเอาเงินประกันของบริษัทนั่นแหละมาจ่าย หรือตั้งวงเงินการปราบปรามการทุจริตมาเลย เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ แจกคูปองไปแล้วประชาชนมาแลกกันทั่วประเทศแล้ว แต่พอไปดูที่บ้านอาจจะไม่มีกล่อง set top box ตัวเป็นๆให้เห็นก็ได้

Advertisment

Leave a comment